เขียนและเรียบเรียงโดย รสา เต่าแก้ว/ณฐพร ส่งสวัสดิ์

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
หลาย ๆ คนคงได้รับทราบสถานการณ์ [เกี่ยวกับการอุ้มหายและซ้อมทรมาน] ในสังคมไทยผ่านทางทั้งข่าวและรายงานสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติบ้างแล้ว
ประเทศไทยได้ส่งสถิติ [เกี่ยวกับการอุ้มหายและซ้อมทรมาน] ไปให้กับองค์การสหประชาชาติ ในการรายงานสิทธิมนุษยชนในเรื่องของอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการทรมานและบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยได้รายงานในครั้งแรกเมื่อปี 2556 หรือ 6 ปีหลังจากประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน
รายงานจำนวนมากเป็นรายงานกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าไปรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ เพียงแต่อาจจะไม่มีรายงานออกไป เนื่องจากมีกลไกที่ยากลำบาก [ในการที่ผู้เสียหายจะได้รับความเป็นธรรม] เช่น กรณี [โจ้ถุงดำ] ที่นครสวรรค์ หากไม่มีคลิปวีดีโอเผยแพร่ออกมา ผู้ปกครองของมาวินก็น่าจะบอกว่าไม่ติดใจ เหมือนเคยพูดก่อนที่จะมีคลิปออกมา ซึ่งกรณีส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเช่นนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากการทรมานไม่ทิ้งร่องรอยบาดแผลเอาไว้
การละเมิดลักษณะในนี้ เช่น การจับกุม ควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายยาเสพติด กฎอัยการศึก หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่างมีขั้นตอนที่ทำให้ชาวบ้านเสี่ยงกับการทรมาน การควบคุมตัวโดยมิชอบ และอาจนำไปสู่การพลาดพลั้งทำให้เสียชีวิต ซึ่งก็จะมีการซ่อนและทำลายศพตามมา
กรณรซ้อมทรมานและอุ้มหาย ส่วนใหญ่มักเกิดกับนักกิจกรรม ผู้เห็นต่าง ผู้ลี้ภัยทางการเมืองออกจากประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีกรณีที่สูญหายและเสียชีวิตรวมกันแล้ว 9 กรณี รวมถึงกรณีวันเฉลิมด้วย
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ไทยถูกประชาคมระหว่างประเทศจับตามอง ว่าเมื่อไรประเทศไทยจะทำให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งอันที่จริงแล้ว การทำร้ายร่างกายก็ถือเป็นความผิดทางอาญาอยู่แล้ว แต่ [ในกรณีนี้ ที่ผู้กระทำความรุนแรงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ] ต้องแจ้งความร้องทุกข์ให้องค์กรที่เป็นองค์กรเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดสังกัดอยู่มาตรวจสอบกันเอง ดังนั้นกฎหมายปกติจึงไม่พอ เพราะแม้จะใช้ปราบปรามควบคุมประชาชนด้วยกันได้ แต่ใช้ควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้
พ.ร.บ. ฉบับนี้ร่างขึ้นในปี 2556 หลังจากประเทศไทยกลับจากการรายงานสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา โดยท่านณรัชต์ เศวตนันทน์ อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ ร่วมกันกับกระทรวงยุติธรรมออกแบบ พ.ร.บ. ที่เป็น stand-alone law ซึ่งเป็นกฎหมายที่แยกออกมา ไม่ได้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียทีเดียว ถือเป็นกฎหมายที่ทันสมัย เอาความผิดทางอาญาสองข้อหาที่ประเทศไทยยังไม่มีมารวมเป็นพ.ร.บ.ฉบับเดียว เรียกว่า “พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและทำให้สูญหาย”
ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาป้องกันไม่ให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายด้วย แต่ [ความผิด] 2 ข้อนี้กลับไม่มีในกฎหมายไทย การอุ้มหาย ทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังไม่มีนิยามในกฎหมายไทย
พ.ร.บ. นี้ถูกทบทวนหลายรอบ โดยฉบับล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 – 2559 ร่างฉบับนี้ได้ถูกเข้าไปพิจารณาโดยสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว มีการแก้ไขบางบทบางมาตรา ทำให้อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการสากล จึงถูกปรับแก้ และเพิ่มเติม หลังจากมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ภาคประชาสังคมจึงได้หยิบฉบับที่กระทรวงยุติธรรมร่างผ่านกฤษฎีกามาปรับแก้ และเสนอต่อคณะกรรมาธิการในช่วงที่อาจารย์ปิยบุตรเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายและการยุติธรรมสิทธิมนุษยชน
กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ชาวบ้านพึ่งพิงได้จริง ๆ เพราะจะเอื้อให้การสืบสวนสอบสวนเป็นอิสระมากขึ้น และขยายนิยามให้ครอบคลุมถึงการอุ้มหาย เนื่องจากในปัจจุบันนี้ หากไม่พบศพก็จะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้เลย
ร่างของภาคประชาชนมีพรรคการเมืองนำไปแก้ไขเพิ่มเติม ตอนนี้จึงมี 3 ร่าง คือ ร่างของกมธ. ซึ่งมีคุณสิระ เจนจาคะ และคุณรังสิมันต์ โรม ร่วมกันล่ารายชื่อส.ส. 101 รายชื่อ มีร่างของพรรคประชาชาติ และของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นโดยรวมแล้วจึงมีส.ส. กว่า 130-140 คนแล้วที่เห็นชอบกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ และรอการพิจารณาอยู่ ซึ่งในช่วงที่เกิดคดีผู้กำกับโจ้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้นำร่างของกระทรวงยุติธรรมมาทำเป็นกฎหมายเร่งด่วน จึงได้เลื่อน [คิวการรอพิจารณา] จากลำดับท้าย ๆ มาเป็นลำดับ 9 ในวันที่ 8 ก.ย. และได้เลื่อนขึ้นมาอีกครั้งเป็นลำดับที่ 4 อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมามีการทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่เคยได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนฯ จึงไม่รู้เลยว่าวันที่ 15 ก.ย. นี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะหายไปอีกไหม
สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists: ICJ)
ที่มาของ [กฎหมายเกี่ยวกับ] การทรมานและการอุ้มหาย มาจากกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นหัวใจสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนมีอยู่ทั้งหมด 9 ฉบับ หากประเทศใดเป็นสมาชิกครบทุกฉบับจะถือว่ามีหน้ามีตามาก ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับการทรมานและการอุ้มหายถือเป็น 2 ใน 9 ของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
เมื่อประเทศใดเป็นสมาชิกของอนุสัญญาเหล่านี้แล้ว จะต้องกลับมาออกกฎหมายภายในประเทศ แต่ในประเทศไทยนั้นมีปัญหาคือไม่สามารถออกกฎหมายภายในได้เสียที เนื่องจากระบบไม่พร้อม และอื่น ๆ ในขณะที่ประเทศที่มีสถานะใกล้เคียงกับประเทศไทยออกกฎหมายภายในได้แล้ว และเป็นกฎหมายที่ใช้ถ้อยคำเหมือนมาตรฐานสากล เช่น ฟิลิปปินส์ อาร์เจนติน่า ศรีลังกา แอฟริกาใต้ อูกันดา และอาเซอร์ไบจาน แต่การบังคับใช้นั้นถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะบางประเทศก็ยังมีปัญหาอยู่
ประเทศไทยเริ่มดำเนินการ [ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหาย] โดยแก้ประมวลกฎหมายอาญา และส่งไปที่องค์การสหประชาชาติในช่วงปี 2556 – 2557 และองค์การสหประชาชาติก็ได้แสดงความคิดเห็นกลับมา ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับรัฐประหารรอบ 2 พอดี กฎหมายฉบับนี้จึงใช้เวลานานมาก เพราะคาบเกี่ยวกับการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง
ในครั้งนั้นองค์การสหประชาชาติให้ความเห็นว่ากฎหมายของเรายังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งด้านคำนิยาม บทลงโทษ และอายุความ ยังมีปัญหาอยู่ เราจึงยุบรวมกันทั้ง 2 กฎหมาย ไม่ให้ผูกกับกฎหมายอาญา
ในช่วง 5-6 ปีต่อมา กฎหมายนี้ถูกโยนไปมา มีการรับฟังความคิดเห็นโดยหลายหน่วยงาน หลายรอบ และหลายร่าง ซึ่งร่างที่เกิดขึ้นหลังจากการยุบรวมร่างรอบแรก ๆ ของอาจารย์ปกป้อง ถือเป็นร่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ได้มาตรฐานสากล แต่หลังจากนั้นก็ถูกลดทอนลงไปเรื่อย ๆ บางมาตราในร่างกฎหมายนี้ถูกดึงออกตลอดเวลาและไม่ถูกรวมอยู่ในร่างสุดท้ายเสียที ซึ่งมาตราที่ถูกดึงออกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลหลักของผู้ที่ต้องตัดสินใจผ่านร่างกฎหมายนี้
กฎหมายลักษณะนี้ออกยาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย โดยช่วงที่จะออกกฎหมายลักษณะนี้ได้ง่ายส่วนใหญ่จะเป็นช่วงหลังจากมีการเปลี่ยนผู้มีอำนาจ เพราะกฎหมายที่ลงโทษอาชญากรรมที่ก่อโดยรัฐและเจ้าหน้าที่จะออกยากหากไม่ได้แรงผลักดันจากคนในสังคม หรือมีการเปลี่ยนผู้ปกครองมาเป็นผู้ที่ไม่กลัวว่าจะถูกเล่นงานโดยกฎหมายลักษณะนี้
วัฒนธรรมการทรมานอยู่ในประบวนการสืบสวนสอบสวนของหลายประเทศ คาบเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและความกดดันในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งระบุว่า ผู้บังคับบัญชากดดันให้ไขคดีตามกรอบเวลาที่กำหนด ทำให้มีการซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้สารภาพ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือเจ้าหน้าที่คิดว่า ตนเองกำลังเสียสละทำงานสกปรกเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพและข้อเท็จจริง ทำให้ [การซ้อมทรมาน] อยู่ในวัฒนธรรมของไทยและหลายประเทศ การพูดถึงกฎหมายต่อต้านการทรมานจึงค่อนข้างท้าทาย
ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิบัติอันโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ไม่ถึงขั้นทรมาน แต่เป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีโดยเจ้าหน้าที่ กฎหมายไม่รองรับความผิดลักษณะนี้ เพราะจะยิ่งเป็นการจับตามอง (monitor) ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีได้มากและได้ง่าย แต่แน่นอนว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน ที่วันหนึ่งอาจจะไปอยู่ท่ามกลางกระบวนการยุติธรรมโดยไม่คาดคิด
เนื้อหาของร่างเหล่านี้ ที่ถูกหยิบยกออกไป แก้ไข และลดทอนตลอดเวลาที่ผ่านมาในร่างหลักของรัฐบาล และทำให้ร่างกฎหมายนี้ไม่ผ่านเสียที ประการแรกคือบทนิยามที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งภาพรวมในส่วนบทนิยามของการทรมานไม่แย่มากนัก แม้จะมีการตัดคำออกไปบ้าง แต่ในส่วนของการอุ้มหายมีการแก้บทนิยามค่อนข้างหนัก ทำให้การอุ้มหายหลายกรณีไม่นับเป็นการอุ้มหาย เช่น ผู้ที่อุ้มหายและผู้ที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการอุ้มหาย จะต้องเป็นคนคนเดียวกัน ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ใช่ ผู้ที่อุ้มหายจะเป็นอีกคนหนึ่ง ส่วนผู้ปฏิเสธคือโฆษก กรณีอย่างนี้ก็จะไม่ถูกนับรวมว่าเป็นการอุ้มหายและหลุดไปจากกฎหมายนี้ ประการที่สองคือกลไกการลงโทษ ร่างของรัฐบาลนั้นมี 2 กลไก คือ กลไกการคุ้มครอง และกลไกการลงโทษ ซึ่งกลไกการคุ้มครองไม่ค่อยมีปัญหา คือ ให้กลับไปหาศาลหากสงสัยว่าเกิดกรณีเหล่านี้ ให้ศาลออกคำสั่ง และมีบทบาทเข้ามาช่วยในการคุ้มครอง แต่กลไกการลงโทษนั้นมีปัญหา ดังนี้
- หน่วยงานที่เข้ามาดูแลกรณีเหล่านี้ ในร่างของรัฐบาลจะกำหนดให้อยู่ที่ DSI และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีของผู้กำกับโจ้ยังอยู่ที่กองปราบ ไม่ได้ไปที่ DSI ในกรณีที่ DSI เป็นผู้กระทำความผิดเอง ตำรวจจะเป็นผู้เข้ามาดูแลรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามควรให้อัยการเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบาทของอัยการเข้าไปในร่างของภาคประชาสังคมแล้ว นอกจากนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบใช้ระบบไต่สวนที่ทำให้ผู้พิพากษาสามารถล้วงเข้าไปหาข้อมูลได้ ซึ่งน่าสนใจ แต่ปัญหาอยู่ที่ศาลทุจริตฯ ไม่ตัดอำนาจศาลทหาร หมายความว่า หากผู้กระทำผิดคือเจ้าหน้าที่ทหาร คดีจะไปอยู่ที่ศาลทหารแทน ซึ่งศาลทหารไทยถูกติติงโดยสหประชาชาติเกี่ยวกับความเป็นกลางและประสิทธิภาพในการดำเนินคดี เพราะบุคลากรที่รับผิดชอบคดีในศาลทหารไม่จำเป็นต้องศึกษาด้านกฎหมายหรือจบเนติบัณฑิต และการดำเนินคดีไม่เหมือนศาลอาญาทั่วไป เพราะถูกออกแบบให้เหมาะกับการดำเนินคดีเกี่ยวกับวินัยทหารมากกว่า
- มาตราที่ถูกดึงออกจากร่างกฎหมายนี้เป็นประจำ คือบทลงโทษผู้บังคับบัญชา ผู้ที่ทราบ หรือควรทราบถึงการกระทำความผิด แต่ไม่ห้าม และไม่นำตัวผู้ใต้บังคับบัญชาไปดำเนินคดี ซึ่งจะโดนลงโทษด้วย มาตรานี้มีระบุไว้ในกฎหมายของประเทศอื่น ทำให้ผู้บังคับบัญชาไปกดดันลูกน้อง ในตอนที่ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีระบุให้ [ผู้บังคับบัญชา] รับผิดในกรณีอุ้มหาย แต่ไม่ใช่กรณีทรมาน ซึ่งผู้ที่เคยอยู่ในสนช. ในปัจจุบันนี้ก็เป็นส.ว. ด้วย ดังนั้นมาตรานี้ก็น่าจะถูกดึงออกอีก มีการใส่ถ้อยคำที่ลดทอน และไม่ได้มาตรฐานสากลเพิ่มอีก
- ร่างกฎหมายนี้ยังขาดกลไกการป้องกัน ในต่างประเทศ การสอบสวนจะมีการอัดวีดีโอตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีการหยุดระหว่างอัด ซึ่งในประเทศไทยไม่มี ในหลายประเทศพิสูจน์ได้แล้วว่าการอัดวีดีโอช่วยได้มากต่อทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้
- ปัญหาด้านอายุความ กฎหมายลักษณะนี้ไม่ควรมีอายุความ เพราะต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน แต่ระบบกฎหมายไทยเชื่อมั่นในอายุความ ร่างของภาคประชาชนจึงพยายามยืดอายุความให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คืออยู่ที่ 20-50 ปี
- อีกสิ่งหนึ่งที่หายไปในร่างของรัฐบาล คือ ส่วนที่ระบุว่าการอุ้มหายเป็นความผิดต่อเนื่อง ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดมาแล้วนานเพียงไหน หากปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมของเหยื่อ เมื่อมีกฎหมายออกในวันนี้ ก็จะนำไปดำเนินคดีในอดีตได้ด้วย เพราะถือว่าผู้กระทำผิดยังคงกระทำผิดอยู่
- ความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี ยังไม่อยู่ในร่างกฎหมายนี้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เพราะจะทำให้ไม่มีข้อกฎหมายใดมารองรับกรณีที่ประชาชนถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจปฏิเสธได้ว่ายังไม่ถึงขั้นของการทรมาน
- ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย มีการดึงมาตราที่ป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยถูกผลักดันกลับเข้าประเทศที่ต้องสงสัยว่าถูกทรมานและอุ้มหายออกอยู่เรื่อย ๆ โดยให้เหตุผลว่ามีการทำอยู่แล้วในทางปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีกรณีที่ประเทศไทยผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางอยู่เรื่อย ๆ
นี่เป็นเพียงภาพกว้าง ๆ เท่านั้น และได้มีความพยายามในการแก้ไขในร่างกฎหมายคู่ขนาน ทั้งในภาคประชาสังคมและสภาผู้แทนราษฎร จึงหวังว่าเมื่อนำมารวมกันแล้วจะเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์
(หากสนใจดูร่างกฎหมายฉบับนี้ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดในเพจเฟซบุ๊ค CrCF ได้)
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล อดีตบุคลากรตำรวจ
ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับพ.ร.บ. ฉบับนี้ เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ แต่ก็มีข้อสังเกตในเรื่องของมิติอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรมองค์กรของตำรวจ ระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง การรวมกลุ่ม และการสั่งการตามสายบังคับบัญชา
ในโลกประชาธิปไตย การฝึกตำรวจจะไม่ให้ฝึกเหมือนทหาร เพราะถือว่าไม่มีประชาธิปไตย ถ้าตำรวจถูกฝึกให้โดนละเมิด เช่น การตัดผมสั้นหรือการเข้าแถวสวนสนาม จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตำรวจรู้สึกถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อฝึกจบและไปทำงานจริงก็จะมีการละเมิดประชาชนต่อ ซึ่งในประเทศไทย การฝึกตำรวจยังคงฝึกเหมือนทหาร มีคำกล่าวให้ท่องว่า คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นพรจากสวรรค์ โดยไม่ได้บอกว่าคำสั่งนั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในการทหารและการสงครามนั้นใช้ได้ เพราะถ้าสั่งแล้วไม่ทำในทางเดียวกันในสนามรบอาจจะเกิดปัญหา แต่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจต้องทำงานดูแลทุกข์สุขของประชาชนจึงทำเช่นนั้นไม่ได้ ดังนั้น วัฒนธรรมขององค์กรตำรวจ ถ้ายังเป็นเหมือนวัฒนธรรมของทหาร จะทำให้ดุลยพินิจของตำรวจสอดคล้องกับมาตรฐานสากลน้อยลง
ประการต่อมาคือระบบกลไกการป้องกันการกระทำไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ เช่น คดีผู้กำกับโจ้ ที่จริงแล้วเรามีกฎหมายป้องกันกรณีเจ้าหน้าที่ทุจริต ประพฤติมิชอบ ใช้อำนาจเกินขอบเขตอยู่แล้ว มีระบบการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ แต่คำถามคือ ทำไมมาตรการป้องกันและตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้นก่อนจะเกิดเหตุเหล่านี้
จึงแสดงให้เห็นว่า นอกจากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องอย่าลืมคำนึงถึงอีกหลายมิติที่มองข้ามไม่ได้ รวมถึงเรื่องการทำผลงานและการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาเกือบ 100% ไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้นตำรวจเลยฟังแต่ผู้บังคับบัญชา
นอกจากนี้ ก็เห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้ อย่างในประเทศอังกฤษ ก่อนจะมีการติด body cam ตำรวจถูกประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยในการขึ้นเวร 1 ครั้ง ตำรวจ 1 คนจะถูกร้องเรียน 2 ครั้ง แต่หลังจากมีการติดกล้อง body cam การร้องเรียนลดลง เหลือไม่ถึงคนละ 0.01% ต่อการขึ้นเวร 1 ครั้ง แต่ในประเทศไทยเราไม่ลงทุน งบที่จัดมาก็มีไม่พอ ต้องขอสปอนเซอร์จากธุรกิจในพื้นที่ ส.ส.มีการตัดงบตรงนี้ เนื่องจากไม่เข้าใจมุมมองในด้านนี้ จึงคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ควรผลักดันให้มีการลงทุนในส่วนนี้
อีกประการหนึ่งคือ ต้องพูดถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจควบคู่ไปด้วย เนื่องจากพ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งที่เชื่อกันว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำความผิด แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ไม่เกิดขึ้นอีกเลย ในต่างประเทศก็ยังพบการร้องเรียนกรณีเช่นนี้อยู่แม้จะมีกฎหมายนี้แล้วก็ตาม เช่น กรณี จอร์จ ฟรอยด์
ดังนั้นการมีพ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นเรื่องดี แต่ก็ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องทำควบคู่กันไป
วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ สื่อมวลชน
กรณีเช่นนี้ [ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย] พูดกันมาเป็น 10 ปีแล้ว ในหลายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่หมดไปเสียที ตลอดช่วงระยะเวลา 13-14 ปี ที่ทำรายการเจาะข่าวตื้นมา ก็ได้ยินกรณีเช่นนี้ตลอด เช่น แพะที่ถูกซ้อมให้รับสารภาพ ซึ่งเป็นคดีที่เกิดกับคนไทย และน่าจะด้วยฝีมือคนไทยด้วยกันเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันผลักดัน [พ.ร.บ. ฉบับนี้]
โดยส่วนตัวก็มีความกังวลว่าพ.ร.บ. ฉบับนี้จะผ่านไหม เพราะรัฐบาลชุดนี้ดูจะไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความกังวลว่าตัวแทนประชาชนที่อยู่ในสภาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ขนาดไหน และคิดว่าประชาชนต้องช่วยกันออกมากดดันและส่งเสียง
เห็นด้วยกับการปฏิรูปตำรวจ และดังที่มีการอภิปรายไปข้างต้น ก็เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ น่าจะเข้ามาช่วยได้ และช่วยให้ประชาชนมีส่วนในการตรวจสอบ [เจ้าหน้าที่รัฐ]
อยากให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและปฏิรูป ที่สำคัญที่สุด คิดว่าประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตยก่อน [เรื่องเหล่านี้จึงจะสำเร็จ] คิดว่าต้องทำกันไปหลาย ๆ ทาง การเข้าถึงโซเชียลในยุคปัจจุบันนี้ก็ช่วยให้เกิดการกระจายข้อมูลได้มาก แต่ก็หวังว่าจะมีการขยับการเคลื่อนไหวออกมาจากโลกโซเชียลด้วย
พรทิพย์ โม่งใหญ่ หัวหน้าผู้สื่อข่าว Workpoint TV
สื่อมวลชนเจ้าของรางวัลสกู๊ปข่าวยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลนาฏราช
ไม่คิดว่าตนเองจะได้รางวัล เพราะทำข้อมูลข่าวที่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นจะให้ความสนใจ จึงขอขอบคุณคณะกรรมการที่เห็นความสำคัญเรื่องการอุ้มหายและซ้อมทรมาน
ปีที่แล้วช่วงที่ทำสารคดี “สูญสิ้น สูญหาย แต่ไม่สิ้นหวัง” คือช่วงที่ทำคือรัฐสภาเปิดให้คนเข้าไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. นี้ ส่วนตัวติดตามประเด็นซ้อมทรมานและอุ้มหายมาหลายปี คิดว่าประชาชนควรเข้าไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับพ.ร.บ. นี้ แต่ ณ ขณะนั้นผู้คนกลับสนใจน้อยมาก ๆ และคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักพ.ร.บ. นี้เสียด้วยซ้ำ หลังจาก 3 ปีที่ติดตามประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง พบว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ เดี๋ยวก็เข้าสภา เดี๋ยวก็ถูกดึงออกไปให้ศึกษาเพิ่มเติม มีการถอดออก และวนเวียนอยู่อย่างนี้มา 10 กว่าปีแล้ว
อยากจะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า การที่สมาชิกสภาฯ ดึงกฎหมายตัวนี้ออก เป็นการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่ถูกซ้อมทรมานเหล่านี้เลย พวกเขาถูกกดความรู้สึกและความทุกข์เอาไว้ การกระทำเช่นนี้จึงไม่ต่างกับการเล่นกับความรู้สึกของผู้คนเหล่านี้
ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมากกว่า 100 ครอบครัวที่รอความยุติธรรมมานานกว่า 17 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณี กรือเซะ ตากใบ หรืออื่น ๆ พวกเขาไม่ได้รับการเยี่ยวยาทางจิตใจ แม้จะได้รับการเยียวยาเป็นตัวเงินซึ่งได้รับสูงสุดอยู่ที่หลักแสน แต่ก็ไม่สามารถเทียบกับความสูญเสียของพวกเขาได้เลย ตลอดหลายปีที่สมาชิกในครอบครัวหายตัวไป และถูกเจ้าหน้าที่และสังคมตีตราว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ พวกเขาถูกบีบให้อยู่ในสังคมที่แคบลง ทั้ง ๆ ที่การซ้อมทรมานและอุ้มหายในภาคใต้ แทบไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบเลย และตามกฎหมายแล้ว คนกลุ่มนี้ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธ์อยู่ รัฐจึงไม่มีสิทธิอุ้มหาย หรือกล่าวหาได้ แต่ผู้คนในสังคมก็ตีตราคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว
ในช่วงที่ไปลงพื้นที่ทำสกู๊ปข่าวกับครอบครัวมุสลิม 4 ครอบครัว ทางเครือข่ายแนะนำว่าคนเหล่านี้ไม่ไว้ใจบุคคลภายนอก เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญกับความเจ็บช้ำมามากกว่า 10 ปี ที่หาความยุติธรรมไม่ได้เลย แต่เพราะการประสานงานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายภาคใต้ ทำให้การลงพื้นที่ราบรื่นและเป็นไปได้ด้วยดี
ในขณะที่พูดคุยกับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ มีคนหนึ่งบอกว่า ขอบคุณที่ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ถูกทิ้ง หรือถูกลืม ซึ่งตนเองไม่คิดมาก่อนว่านักข่าวที่ลงพื้นที่ไปขอข้อมูลเพื่อทำข่าวจะได้รับประโยคนี้ คุณอังคณา นีละไพจิตร เคยบอกกับตนว่า ครอบครัวเหล่านี้รู้สึกห่างเหินจากความเป็นธรรม เพราะไปร้องเรียนมาแล้วทุกหน่วยงาน แต่เรื่องก็มักจะเงียบหาย และนอกจากไม่ติดตามเรื่องให้แล้ว ก็ยังไม่เยียวยาทางจิตใจให้พวกเขาด้วย
ในปีล่าสุด ตนเองได้ลงพื้นที่เพื่อที่จะไปฟังเสียงของแม่คนหนึ่งที่รอการกลับมาของลูกชายที่หายตัวไปมากว่า 15 ปีแล้ว แต่ก็มีเจ้าหน้าที่มาหา และขอให้ถอดรายชื่อของลูกชายออกจากรายการรายชื่อบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายซึ่งอยู่ในรายงานขององค์การสหประชาชาติ เพื่อลดตัวเลข [ผู้ถูกบังคับสูญหาย] ลง ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกถูกซ้ำเติมไปอีก
สุดท้ายนี้ อยากฝากเอาไว้ว่า พ.ร.บ.นี้ก็เป็นเสมือนยาที่เยียวยารักษาบาดแผล แม้บางบาดแผลจะเป็นแผลเป็นไปแล้ว แต่อย่างน้อย ๆ ก็จะช่วยให้แผลเป็นนั้นรอยตื้นขึ้น และเป็นเสมือนวัคซีนให้กับหลายครอบครัว ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นกับใครอีก และอยากให้ผู้สั่งการข้างบนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย
ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ
ขอแสดงความดีใจกับประชาชน ที่ผลักดันมานานให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ สมัยที่ตนเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อช่วงปี 2552 – 2554 และเป็นประธานศึกษากฎหมายฉบับนี้ เราพยายามให้ยุติธรรมนำการเมืองและการทหาร ให้ทุกคนได้รับความยุติธรรม ในกรณีต่าง ๆ เช่น ตากใบ หรือกรือเซะ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมแล้ว ประชาชนยังคลางแคลงใจ เราจึงตั้งคณะที่นำทุกภาคส่วนเข้ามา เพราะความยุติธรรมถ้วนหน้าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
กระบวนการกฎหมายเดิมระบุว่าต้องพบศพ พบตัว หรือพบกระดูกหรือชิ้นส่วนที่พิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนจึงจะดำเนินคดีได้ แม้ว่าคุณสัณหวรรณบอกว่าร่างมีความไม่สมบูรณ์หลายประการ แต่ร่างของกระทรวงยุติธรรมมีมาตรา 6 ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะขัง ลักพา หรือกระทำการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพทางร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธ ซึ่งทุกคนจะปฏิเสธหมดว่าไม่ได้กระทำ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ของคนที่ถูกจับไปอยู่ในการคุ้มครองตามอำนาจกฎหมายของรัฐ ถือว่ากระทำผิดให้บุคคลสูญหาย เช่น กรณีบิลลี่ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัวไปก็จะมีภาระการพิสูจน์ โดยหากบอกว่าไม่สูญหายก็ต้องนำตัวมาให้ได้
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัยที่ตนเรียนโรงเรียนนายร้อย มีวิชาอาชญาวิทยา ศึกษาตั้งแต่ยุคตั้งเดิมของยุโรป ความผิดที่เป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ผลการกระทำจะถูกลงโทษโดยการทรมาน เช่น กรณีกาลิเลโอ ที่บอกว่าพระอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลกอย่างที่ศาสนาบอก ตุลาการศาสนาจึงบังคับให้เปลี่ยนความคิดเห็น และถูกลงโทษจนตาบอด และเสียชีวิตในคุก การตีความกฎหมายโดยใช้ความเห็นส่วนตัวหรือมีอคติ จึงมีมาหลายร้อยปีแล้ว การบัญญัติกฎหมาย [ตามแนวทางของอาชญาวิทยา] จึงเสนอ 8 ประเด็น
- กฎหมายต้องเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ต้องคุ้มครองประชาชน และเป็นที่พึ่งของประชาชน
- อาชญากรรมต้องเป็นภัยต่อสังคม ไม่ใช่ต่อความรู้สึกหรือความมั่นคงของคนใดคนหนึ่ง
- การป้องกันอาชญากรรมสำคัญกว่าการลงโทษอาชญากร กฎหมายจึงต้องออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร
- การกล่าวหาทางลับ การทรมาน ทารุณกรรม และประหารชีวิต ควรยกเลิก
- การลงโทษมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งผู้ประกอบอาชญากรรม และป้องกันการล้างแค้น
- การกำหนดโทษจำคุก ถือว่าเหมาะสม แต่ก็ต้องเหมาะกับผู้ถูกลงโทษ สำคัญที่สุดคือเรือนจำต้องถูกสุขลักษณะ น่าอยู่ ไม่ใช่เอามาเป็นสถานที่ทรมาน
- การลงโทษ ถ้ารุนแรงเกินไป อย่างกรณีการซ้อมทรมาน หวังจะได้สิ่งหนึ่งก็จะไปเกิดอีกสิ่งหนึ่งแทน เช่น การฆ่าคนเพื่อจะหาว่าใครลักทรัพย์
- การบัญญัติกฎหมาย เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องกระทำโดยคนที่มาจากประชาชนที่ปราดเปรื่อง ปัจจุบันมีการก้าวล่วงให้องค์กรตุลาการมาบัญญัติกฎหมายแทน
กฎหมายฉบับนี้ เราควรต้องส่งเสริม ผลักดัน อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อย จะถูกมองว่ามีความด้อยค่าในความเป็นมนุษย์ จึงจะถูกละเมิด ดังนั้นถ้าผลักดันให้ผ่านจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก
หลายท่านมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะมองแค่ตำรวจ แต่ต้องแยกว่า กระบวนยุติธรรมจะมีทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ มีผู้บังคับใช้กฎหมาย เรามีกฎหมายพิเศษโดยกอ.รมน. ทหารบังคับใช้กฎหมายได้ทั้งหมด คนดังกล่าวเราไม่ได้ฝึกปรือ เราพยายามจัดโครงสร้างของตำรวจ เราจัดโครงสร้างคนทั้งประเทศเป็นแบบทหาร แต่การบั งคับใช้กฎหมายของตำรวจต่างกับทหาร 4 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง ตำรวจปฏิบัติงานตามลำพัง ใช้วิจารณญาณมาก มีการตีความตามดุลยพินิจ แต่ทหารจะให้ทำตามคำสั่ง ถ้าได้กฎหมายนี้ต้องพัฒนาและฝึกอบรมตำรวจสายตรวจและสายสืบ เพราะเป็นส่วนที่ต้องเผชิญเหตุ การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งแบบทหาร อาจจะทำให้กระทำการเกินกว่าเหตุได้ สอง ตำรวจเป็นโครงสร้างแบบล่างขึ้นบน สาม ตำรวจเป็นคณะเล็ก และสี่ ตำรวจมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมตลอดเวลา ดังนั้นตำรวจอาจจะเป็นจำเลยเกินไป จึงออกมาในภาพที่เห็น ปีที่แล้วก็ยังมีคดีของจอร์จ ฟรอยด์ แต่เราก็ไม่ควรให้เกิดเหตุแบบนี้ กระดูกสันหลังของตำรวจคือสายตรวจ ส่วนเส้นเลือดคือสายสืบและตำรวจสืบสวน คนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพัฒนา กลับไปเน้นการสร้างโครงสร้างของลำดับยศสูง ๆ กฎหมายจะดีไม่ดี อยู่ที่ผู้บังคับใช้ ดังนั้นคนใช้กฎหมายนี้ต้องมีใจสัตย์ซื่อ
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 นี้ กฎหมายแรกคือหารแก้กฎหมายอาญา สองคือพ.ร.บ.ครู ซึ่งมีปัญหาเยอะ กลัวว่าจะพูดจนถึงค่ำก่อนจะมาถึงกฎหมายฉบับนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ ต้องขอบคุณคุณพรเพ็ญที่ยกคณะมาที่พรรคประชาชาติ พูดเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เราอาจจะมองระบบของเมืองนอกให้ได้ตามหลักสากล แต่ต้องยอมรับว่าระบบในรัฐประหารช่วงหลัง ๆ กิจการตำรวจที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมถูกใช้จับกุม คุมขัง สอบสวน เพื่อข่มขู่ลงโทษ ไม่ให้บุคคลนั้น ๆ ไปสร้างความไม่สบายใจให้คนบางคน ตำรวจจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะนายกที่คุมตำรวจอยู่ เมื่อนายกแจ้งความเองเรื่องหมิ่นประมาท ใครจะกล้าไม่จับ เรื่องนี้คิดว่าไม่เหมาะสม ถ้าจะนายกจะดำเนินคดีก็ควรใช้ศาล แต่กลับไปใช้ตำรวจที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ประชาชนจึงมองว่าตำรวจรับใช้ผู้มีอำนาจ
ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน อาจจะไม่เพียงพอ ควรขยายกรรมาธิการให้มากขึ้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ผู้ได้รับผลกระทบควรได้มีส่วนในการทำกฎหมายฉบับนี้ ตนเองถือว่ากฎหมายเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นต้องมีเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน ที่ผ่านมาในกรณีเหล่านี้ เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นการสูญหาย แต่คณะทำงานประชุมกันว่าต้องหาตัว หาศพให้ได้ก่อน การลอยนวลพ้นผิดจึงมีอยู่ กฎหมายไทยจำนวนมากต้องจึงปฏิรูป โดยเฉพาะกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
อาชญากรรมไม่ใช่แค่ผู้กระทำผิด แต่ยังหมายถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และบุคคลในกระบวนการยุติธรรม หากกฎหมายนั้นทำให้คนบางกลุ่มมีความสุข แต่ทำให้คนส่วนมากเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม กฎหมายฉบับนี้เชื่อว่าเป็นความต้องการของประชาชน รัฐบาลหาเวลามานาน กลัวเข้าตัวผู้ออกกฎหมาย แต่ตอนนี้เป็นเสียงเรียกร้องของคนทั้งประเทศ
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล – นักกิจกรรมเยาวชน
ในฐานะประชาชนคนรุ่นใหม่ คำว่าอุ้มหายและซ้อมทรมานไม่ได้เกินกว่าความรับรู้ของเราเลย อย่างกรณีคลุมถุงฆ่าที่นครสวรรค์ อุ้มหายพี่ต้าร์ วันเฉลิม กรณีฆ่ายัดปูนถ่วงน้ำ และหลายกรณีที่อยู่ในหน้าข่าว และกรณีที่ไม่ได้อยู่ในหน้าข่าว กรณีที่เราจะได้ยินมาก ก็คือ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง พี่ต้าร์ คุณบิลลี่ สหายภูชนะ นายสุรชัย แซ่ด่าน การที่เราได้เราเป็นนักเคลื่อนไหวด้วยทำให้เราค่อนข้างที่สนใจเรื่องนี้ เพราะทุกคนและเราเองก็เสี่ยงที่จะถูกกระทำเช่นนี้ ดังที่จะได้เห็นในหน้าข่าวเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา คือชื่อแบล็คลิสต์ผู้ที่เห็นต่างจากทหาร เราและคนที่อยู่ในห้องนี้ รวมทั้งพี่โรมก็อยู่ในรายชื่อนั้น เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอารายชื่อเหล่านี้ไปก็ทำอะไรในอนาคต
การที่คนไทยเอาคำว่า “ระวังโดนอุ้มนะ” มาทำให้ตลกได้ ทั้ง ๆ ที่มันเลวร้ายสำหรับคนที่อยู่ในประเทศไทย ณ ตอนนี้ จริง ๆ แล้วก็เป็นการสะท้อนเหมือนกันว่าทุกคนมีความกลัวกับเรื่องนี้มาก ๆ กังวลว่า คนที่โดนอุ้มหรือโดนซ้อมทรมานอาจจะเป็นตัวเองก็ได้ อย่างเป็นกรณีใกล้ตัว แค่คนที่พูดวิจารณ์รัฐบาล ยังไม่ถึงขนาดวิจารณ์เจ้า เขายังเคยพูดแบบนี้ใส่เลย ว่า “ระวังโดนอุ้มนะ” หรือ “พูดอะไรไม่กลัวตายหรอ” และคิดดูว่าคนวิจารณ์สถาบันจะโดนขนาดไหน
แต่เมื่อได้ยินว่ามีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ทำให้เราดีใจว่ามีก้าวใหม่ในเรื่องการอุ้มหายและซ้อมทรมาน ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เราก็คิดว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องผลักดันร่างนี้ให้ผ่าน เพื่อให้เป็นเครื่องมือหนึ่งของผู้ที่ถูกกระทำ เช่น การต่อสู้คดีของผู้ที่ถูกละเมิด เพื่อป้องกันการอุ้มหายและการซ้อมทรมานที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีก ส่วนตัวคิดว่า ในกรณีของการกระทำเหล่านี้ เราควรจะคิดหาทางแก้ไขทั้งทางกฎหมายและทางวัฒนธรรมด้วย เช่น สังคมในองค์กรของทหารและตำรวจเอง
ตอนที่ฟังทุกคนพูดไปทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งได้ว่า เมื่อก่อนตนเคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกัน ตั้งแต่ก่อนมัธยมต้น แล้วตอนมัธยมปลายเขาก็ไปสอบเข้าโรงเรียนช่างฝีมือทหาร และก็ยังเป็นเพื่อนสนิทกันอยู่ ในสังคมนั้น การโดน “ซ่อม” ก็คือการทำร้ายร่างกายหรือโดนซ้อม เราได้ยินกันอย่างเป็นปกติ ทำกันอย่างเป็นปกติ ตนก็เคยดูแลเพื่อนคนนั้นที่เคยโดนซ่อมมา มันเจ็บปวด เขาเองก็เจ็บปวด เราเองก็เจ็บปวด ตอนนั้นเราอายุแค่ 16 แต่ตอนนั้นเราต้องมาพบกับการซ้อมและการทรมานในระบบ เขาสู้ไม่ได้ เพราะเขาต้องอยู่ในระบบต่อไป มันเป็นคำสั่งที่ได้รับมาแล้วเขาต้องก็ทำไปตามนั้นโดยที่ไม่สามารถปริปากพูดอะไรได้เลย ไม่มีอะไรมาปกป้อง เราก็ไม่รู้ว่ามีการกระทำอะไรเหล่านี้ในสังคมทหาร แต่ที่รู้คือการซ้อมทรมานคือการทำลายคน และละเมิดสิทธิของคนคนนั้นอย่างชัดเจน
ตอนนี้ที่เรามีกำลังมากพอที่จะพูด เราก็อยากเป็นอีกคนหนึ่งที่จะช่วยเท่าที่ทำได้ในทุก ๆ ทางเพื่อให้พ.ร.บ.นี้เดินไปต่อได้ และสามารถประกาศใช้ได้ในอนาคต
ประเทศเรามันมืดมนจริง ๆ ตั้งแต่เห็นข่าวเหล่านี้ ก็รู้สึกว่าไม่ได้แปลกเลย สำหรับเรา การมีคนโดนอุ้มไม่ได้แปลกเลย การที่มีคนโดนซ้อมก็กลายเป็นเรื่องไม่แปลกไปแล้วในสังคม ซึ่งมันผิดปกติ เราก็คิดว่าเหล่านี้เป็นการเคลื่อนไหวหนึ่งในประเทศ และตอนนี้เราก็คิดว่ามีการเคลื่อนไหวและผลักดัน พ.ร.บ. นี้อยู่ มันคือการป้องกัน จะเป็นเครื่องมือที่ปกป้องทุก ๆ คนจากการกระทำอันเลวทรามนี้ได้ และถึงแม้เหตุจะเกิดขึ้นไปแล้ว เราก็หวังว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้กระทำทุกคนในอดีตหรือครอบครัวผู้ที่สูญเสียจะต้องได้รับการลงโทษ เราต้องประกาศอย่างชัดเจนว่าเราจะไม่ปล่อยไป
ในการเรียกร้องประชาธิปไตยของเรา เราก็พยามพูดเรื่องนี้ในทุก ๆ โอกาสที่มี เพราะพ.ร.บ.นี้ก็คือหนึ่งเครื่องมือสำคัญ ว่าทำไมประชาชนที่ออกมา เช่น พี่ต้าร์ แม้เราไม่ได้รู้จักเขาหรือรู้ว่าเขาทำอะไรมาในอดีตแต่เรารับรู้ได้ว่าเรื่องนี้มันผิดอยู่ดี เขาถูกอุ้มไปจนหายไปถึง ณ ตอนนี้ มันผิดอย่างชัดเจน สังคมต้องช่วยกันนำความจริงให้ปรากฏออกมา ต้องนำคนที่ทำมารับบทลงโทษให้ได้ และผู้ที่สูญเสีย รวมถึงครอบครัวและญาติเขาต้องได้รับการดูแลและเยียวยาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อคนคนหนึ่งหายไป
มานพ คีรีภูวดล – สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล
คิดว่าประเด็นสำคัญคือ กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญที่จะต้องผ่านวาระหนึ่ง ผมคิดว่าในส่วนตัวผม ในส่วนของพรรคก้าวไกล ผมให้ความสำคัญมาตลอด ก่อนจะเข้าถึงเนื้อหาเรื่องของวาระเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมก็ลงไปรับหนังสือกับเครือข่ายที่มายื่น จากลำดับ 9 ก็ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 3 ในวันที่ 15 ก.ย. นี้ แต่มันก็จะมีพ.ร.บ. ที่สองคือการศึกษา ที่ไปเกี่ยวกับคำสั่งคสช. คาดว่าจะมีการอภิปรายกันเยอะ แต่เราก็จะผลักดันให้พ.ร.บ.อุ้มหายในฉบับที่ 3 มีการรับหลักการไว้ก่อน จริง ๆ แล้วในวันที่ 15 จะเข้าอยู่ประมาณสี่ร่าง มีร่างของครม. มีร่างของอาจารย์วันนอร์ ท่านสุทัศน์ เงินหมื่น และกมธ. ซึ่งทางเครือข่ายก็ได้เสนอสมัยที่อาจารย์ปิยบุตรเป็นประธานกรรมาธิการเรื่องกฎหมาย ตอนนี้ก็ใช้คำว่าร่างของสิระ เจนจาคะ และคณะ
คิดว่าเนื้อหาก็จะมีทั้งหมด 4 ร่าง ในส่วนของเนื้อหามีเหตุผลความจำเป็นสำคัญที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ในประเทศไทย เหตุผลแรกก็คือสถานการณ์ภายในประเทศไทย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผมคิดว่ามันมีอยู่สองคำคำว่าทรมานกับคำว่าอุ้มหาย จริง ๆ ในเรื่องการทรมานมันมีเยอะมาก ทั้งผู้ต้องหาที่อยู่ในเรือนจำ ชาวบ้านที่ถูกคุมขังส่วนใหญ่ กระบวนการตรงนี้มาจากการทรมาน มันหลากหลายรูปแบบ ถ้าเป็นคดีป่าไม้ตั้งแต่การใช้นอกสถานที่ในการควบคุมผู้คน จนไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ยิ่งกรณีเรื่องปปส. อำนาจของเจ้าหน้าที่ปปส. สามารถควบคุมตัวได้สามวันก็จะนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดี อันนี้มันก็คือช่องว่างเพราะฉะนั้นกระบวนการของอำนาจรัฐซึ่งเปิดโอกาสให้มีการทรมานค่อนข้างเยอะ และในกรณีอุ้มหาย ผมเองนอกจากเป็นผู้แทนราษฎรแล้วก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ผมคิดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ผู้ที่ด้อยโอกาส ผู้ที่ไม่มีอำนาจ ผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างคุณบิลลี่ที่แก่งกระจาน ชัดเจนเลยว่าเหตุการณ์อย่างนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน และเราเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เป็นกรณีเล็ก ๆ ที่อยู่ในขอบเขตตามพื้นที่ชายขอบมันยังมีอีกเยอะ หลายพื้นที่ หลายเคส ไม่ใช่แค่กรณีอุ้มหาย มันเป็นเรื่องของการทำร้ายและฆาตกรรม อย่างกรณีคุณชัยภูมิ ป่าแส ที่เป็นนักกิจกรรมเยาวชนที่เชียงดาว ผมจึงคิดว่ากฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นค่อนข้างมาก ซึ่งผมคิดว่าทั้งหมดต้องอาศัยพลังทั้งภายนอกสภาและภายในสภา
ในส่วนของภายในสภา ผมคิดว่าส.ส. จำนวนมากให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งผมเข้าใจว่าส.ส.ที่ทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนให้ความสำคัญ เราอยากผลักดันเรื่องนี้ เพื่อให้มันจบในสมัยประชุมนี้ เพื่อที่จะรับหลักการ เพื่อที่จะได้แต่งตั้งกรรมาธิการ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่านทวีที่เสนอว่า จริง ๆ แล้วเรื่องใหญ่อย่างนี้ควรจะตั้งกรรมาธิการให้เยอะ 25 คนคิดว่าน้อยไป และกรรมการวิสามัญที่จะเกิดขึ้น ถ้ามีจำนวน 35 คนขึ้นไปก็จะเปิดพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชนเข้าไปนั่งได้มากขึ้น หรือโควตาผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายได้เข้ามา แม้กระทั่งกรณีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พอดีผมก็เคยอยู่ในกรรมาธิการวิสามัญเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน อันนี้ก็เป็นข้อมูลที่ผมได้อยู่ในอนุกรรมาธิการของชายแดนใต้และชาติพันธ์ เราได้เห็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำและใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการกระทำ ผมคิดว่ามันเลยขอบเขตข้อตกลงที่ประเทศไทยได้ลงนามร่วมกับนานาอารยะประเทศซึ่งมีข้อตกลงใหญ่ ที่ไปลงนามไว้แล้ว ถ้าจะให้เหตุผลในเรื่องนี้ ประเทศไทยต้องตอบโจทย์ให้กับเพื่อนสมาชิกในประเทศต่าง ๆ ว่า เมื่อได้ลงนามไปแล้วได้กระทำการ แก้ไข หรือปรับปรุงกฎหมาย หรือได้สร้างเครื่องมือกลไกใหม่อย่างไร
สองเหตุผลใหญ่คือ เรื่องเหตุผลภายในของสถานการณ์จริง การกระทำการทรมานและสูญหายมันเกิดขึ้นจริง ๆ และเหตุผลที่สองคือความตกลงระหว่างประเทศ ผมมีข้อสังเกตคือ 14 ปีในการพยายามขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ ผ่านหลายรัฐบาล ผ่านหลายกระบวนการ ผ่านหลายองค์กร ซึ่งใช้เวลานานแต่มีการคัดค้านในส่วนของการปกป้องคุ้มครองการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจและมีพื้นที่ในการทำงาน เพื่อที่จะตอบสนองผู้บังคับบัญชา ซึ่งประการนี้ผมเห็นว่ามันเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งหมายความว่า หากไม่มีพฤติกรรมเกิดขึ้นจริง จะไม่มีการคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ เมื่อมีการคัดค้าน เหตุผลที่จะย้อนทางกับผู้ที่จะพยายามหลีกเลี่ยงให้ไม่มีกฎหมายฉบับนี้ก็คือย่อมแสดงว่าพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการทรมาน อุ้มหาย บังคับให้สูญหายมันเกิดขึ้นจริง โดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ที่ใช้กฎหมายดำเนินการ
อันนี้เป็นข้อสังเกตว่าทำอย่างไรเพื่อที่จะตอบโจทย์ทั้งสามข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยมีพื้นฐาน มีเครื่องมือที่จะบอกกับสังคมโลก บอกคนภายในได้ว่าอยู่ในกรอบของสิทธิมนุษยชนและผู้คนในพื้นที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
สุดท้าย ผมคิดว่าในวันที่ 15 นี้ในส่วนของพรรคก้าวไกล เข้าใจว่ารายละเอียดของกฎหมายกรรมาธิการปรับปรุงจากภาคประชาชนได้นำเสนอ ตอนที่อาจารย์ปิยบุตรได้นำเสนอส.ส. โรม เป็นคนที่ดูรายละเอียดค่อนข้างที่จะเยอะ เรายืนยันแล้วก็วันที่ 15 นี้ เราพยายามดันให้ถึงที่สุดในฐานะผู้แทนพี่น้องประชาชน
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ
ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเราคิดว่าเป็นกฎหมายที่จำเป็นต้องมีในสถานการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้คอยปกป้อง
ผมเป็นทนายความที่อยู่ในชายแดนภาคใต้ ช่วยเหลือในระดับหนึ่ง ที่เราเห็นก็คือในสภาพของปัญหากฎหมายที่เราบังคับใช้ในชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก และตามด้วยพรก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง แต่เรายังเห็นถึงสภาพปัญหาของการที่มีกฎหมายเหล่านี้ที่เป็นอุปสรรคในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เป็นปัญหาที่เราได้รับข้อร้องเรียนมาโดยตลอด มีการซ้อม มีการทรมาน มีการบังคับให้รับสารภาพ มีการบังคับซัดทอด เราในฐานะที่เป็นนักกฎหมายในขณะนั้น เราก็ต้องทำหน้าที่ในการหาข้อมูลหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีหักล้างหลักฐาน
เมื่อได้รับคัดเลือกเป็นสภาผู้แทนราษฎรและได้เข้ามาทำหน้าที่ ก็เป็นคนหนึ่งที่ในปี 2562 ได้ตั้งกระทู้ถามทางรัฐบาลเพื่อที่จะติดตามความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.การปราบปรามการซ้อมทรมาน และฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้นำไปร่าง และพิจารณาเสร็จในวาระหนึ่ง เจตนาตอนนั้นเรารู้ว่า กฎหมายฉบับนั้น คนที่เคยที่ติดตามร่างพ.ร.บ.ปราบปรามการซ้อมทรมานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ผ่านการพิจารณา โดยกรรมาธิการเป็นร่างที่แปลงร่างเสียจนที่จะไม่เห็นเค้าเดิมที่เสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิ ทำให้เราเองที่เป็นส.ส. ต้องตั้งการ์ดสูงเช่นเดียวกัน ในการที่จะต้องช่วยกันดูร่างพ.ร.บ.ปราบปรามการทรมาน ที่เราเชื่อว่าสามารถที่จะพิจารณาผ่านวาระหนึ่งได้ในวันพุธนี้ และเมื่อตั้งคณะกรรมาธิการแล้ว ไม่ให้เป็นเหมือนเช่นร่างเดิมของในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะได้พิจารณากันต่อไปหลังจากผ่านวาระวันพุธนี้แล้ว ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่มาจากผู้แทนของประชาชน หรือผู้แทนของภาคประชาชนที่ได้รับสิทธิ์และสัดส่วนของพรรคการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ในการปกป้องและกำหนดทิศทางของตัวร่างกฎหมายฉบับนี้
ในส่วนของกฎหมายฉบับแรกในวันพุธนี้เป็นเรื่องของพ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายอาญา สาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก ที่ยังค้างมาจากการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งคิดว่าน่าจะไม่นาน ส่วนกฎหมายฉบับที่สองคงจะมีการหารือกันว่าขอให้เอาพ.ร.บ.การปราบปรามการทรมานขึ้นมาฉบับที่สอง เพราะเป็นเรื่องของการพิจารณาฉบับใหม่ทั้งคู่ ไม่ได้เป็นการค้างพิจารณาเหมือนฉบับที่หนึ่งอย่างเรื่องของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าฝ่ายการเมืองเอง ทั้งหมดในสภา มีส่วนต้องการกฎหมายฉบับนี้ เพราะถือว่าเราเป็นผู้แทนของประชาชน และเราก็เห็นสภาพปัญหาของทุกภูมิภาค ไม่ใช่ของเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาอย่างนี้ ซึ่งผมก็คิดว่าเราต้องช่วยกันผลักดัน และอาจจะต้องมีการนำเสนอขอหารือกับท่านประธานด้วยในวันพรุ่งนี้ วันนี้ผมพยายามจะตรวจสอบว่า ตกลงผู้ประสานงานของฝ่ายรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ได้ทราบข้อมูลเพียงเบื้องต้นว่าวันพุธนี้จะมีกฎหมายฉบับนี้เข้าไปในลำดับที่สามนี่ เป็นสิ่งที่เราจำเป็นช่วยกันสื่อสารและเรียกร้อง สะท้อนความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนให้ได้ยินเสียง ผมถือว่าห้องที่เราได้คุยกันวันนี้มีคุณูปการเป็นอย่างมากที่ทำให้เราได้หารือเรื่องนี้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งทางนิติบัญญัติเอง ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ช่วยกันเรียกร้อง
ผมจะขอทำความเข้าใจที่ท่านมานพได้สื่อสารเมื่อสักครู่นี้ กลัวจะเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน ร่างที่เสนอโดยส.ส. มีด้วยกันสามร่าง ร่างที่หนึ่งเป็นของอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าคณะในการร่างฉบับนี้ ฉบับที่สองเป็นของท่านสุทัศน์ เงินหมื่น ร่างที่สามเป็นของคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราตกลงกันในคณะกรรมาธิการให้นำร่างของท่านรังสิมันต์ โรม เป็นร่างหลัก แล้วเอาร่างของฉบับประชาชนและของรัฐมนตรีของเก่าที่ครม. ผ่านสภานิติบัญญัติมาเป็นส่วนประกอบในการดูความเหมาะสมของฉบับนี้ ทำให้เราค่อนข้างจะเชื่อมั่นว่า ร่างที่คุณสิระ เจนจาคะเป็นผู้ลงนาม เป็นร่างที่ผ่านพิจารณาโดยบุคคลหลายภาคส่วนในคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่ผมเป็นประธาน ได้ผ่านการพิจารณาครบถ้วนอย่างรอบด้านในระดับหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเรามีหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นคุณรังสิมันต์ โรม คุณพรเพ็ญ หรือในส่วนกรรมการสิทธิก็ได้เข้ามามีส่วนให้ความรู้ให้เราได้มีร่างฉบับนี้ขึ้น ทำให้ผมค่อนข้างอยากจะจับร่างนี้เป็นร่างหลัก แต่ในวันพิจารณาในการลงมตินั้น ผมก็ยังคิดว่าโดยทั่วไปแล้วก็ต้องเอาร่างของรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก และร่างอีกสามฉบับเป็นร่างประกบในการพิจารณา แต่เราผู้ที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญ มีหน้าที่ในการผลักดันในสิ่งที่เราอยากได้ให้ปรากฏในตัวร่างที่เป็นกฎหมายให้ผ่านวาระสองวาระสาม สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะได้คือพยายามให้รับวาระหนึ่งในวันพุธนี้ หลังจากสภาปิดไปแล้วกรรมาธิการวิสามัญจะทำหน้าที่พิจารณาร่างอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นสภาเปิดมาอีกครั้งนึง เราก็จะได้มีโอกาสเข้าไปในวาระสองสามและประกาศบังคับใช้ใน 120 วันตามตารางเดิมตามที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน นี่คือข้อมูลที่อาจจะอัพเดทให้กับทุกท่านได้รับฟังในห้องนี้ได้ ส่งแรงใจผลักดันกันให้ได้ฉบับนี้
รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล
ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ผ่าน เพราะว่าเป็นกฎหมายที่เราไปตกลงกับต่างประเทศ และเมื่อเราพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อประเด็นเรื่องไม่ว่าจะเป็นการอุ้มหายหรือการซ้อมทรมาน ที่มีรายงานเป็นที่ยุติว่าเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ผมจึงคิดว่ากฎหมายฉบับนี้มีโอกาสผ่านมาก และถ้าเราไปดูเรื่องของการสนับสนุนของกรรมาธิการที่เป็นหนึ่งในสี่ร่าง เราได้รับการสนับสนุนจากส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน 100 กว่าชีวิต ผมจึงคิดว่ามีโอกาสผ่านมาก เพียงแต่ว่าความน่ากังวลคือ [กฎหมาย] จะออกมาหน้าตาแบบไหนในชื่อของการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือสุดท้ายมันก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมได้ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างกังวลจริง ๆ
ต้องบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ ต้องอุทิศให้กับคนที่ถูกซ้อมทรมาน และถูกกระทำให้สูญหายในหลาย ๆ คน และในขณะที่กรรมาธิการกฎหมายได้รับรองฉบับนี้ ก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นของคุณต้าร์ วันเฉลิม ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ และปลุกให้คนจำนวนมากเริ่มตระหนักว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา แค่เขาต้องไปอยู่ต่างประเทศ เพราะเขาไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันก็แย่พอแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ยังถูกตามล่า และถูกกระทำให้สูญหาย จนถึงทุกวันนี้เราก็ไม่ทราบอะไร กรรมาธิการเคยเรียกเจ้าหน้าที่มาชี้แจง ยังจำได้ดีด้วยว่าเจ้าที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ไม่รู้ว่าต้องไปหาข้อมูลหลักฐานอย่างไร ต้องให้หน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งคือองค์กรอัยการ มาบอกตำรวจว่า ถ้าคุณอยากจะประสานงานหาพยานหลักฐานในคดีนี้ คุณต้องทำแบบนี้ ไปช่องทางนี้ มันเป็นเรื่องที่ทั้งโหดร้ายและตลกร้าย ที่เราได้เห็นความง่อย ของหน่วยงานของรัฐที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ถ้ามันคลอดออกมาได้ จะมีความสำคัญมาก ถ้าเราไปดูในเนื้อหา เอาเฉพาะในส่วนของร่างกรรมาธิการ ร่างอื่นผมยอมรับว่าผมอาจจะยังไม่ได้ดูละเอียด แต่ถ้าเป็นร่างของกรรมาธิการซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่งในการทำเรื่องนี้มา ผมคิดว่ามันมีเนื้อหาหลายอย่างที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยให้เกิดการติดตามสืบสวนสอบสวนคดีเกี่ยวกับการทรมานและการอุ้มหายโดยไม่ถูกกีดขวางด้วยกรอบของระยะเวลา สถานที่ และกำหนดให้คดีเหล่านี้ไม่มีอายุความ และบังคับให้คดีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หากผู้กระทำเป็นคนไทยหรือผู้เสียหายเป็นคนไทย อันนี้ก็ครอบคลุม
อันที่สองเป็นส่วนที่ผมก็คิดว่าดีมาก เป็นจุดเด่นของร่างของกรรมาธิการเลย คือคณะกรรมการจะมีที่มาจากคนหลากหลายที่ปฏิบัติงานที่มีความเข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ถ้าเราไปดูร่างของกระทรวงยุติธรรม หลายส่วนจะเป็นปลัดกระทรวงต่าง ๆ มีรัฐมนตรียุติธรรมนั่งหัวโต๊ะ ซึ่งก็มีคอมเม้นต์วิจารณ์เรื่องการปิดชื่อประธาน บางส่วนที่เข้ามานั่งในกรรมการก็อาจจะตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายด้วยซ้ำไป ดังนั้นผมจึงคิดว่าร่างของกรรมาธิการอาจจะสะท้อนถึงดุลยภาพระหว่างคนที่ทำงานในรัฐและคนที่ทำงานและเข้าใจในสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญมีตัวแทนของคนที่เคยได้รับความเสียหายมานั่งเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งผมคิดว่าบทบาทของกรรมการนี้ ถ้าเราอยู่ในประเทศไทย เราอาจจะคิดว่า ตั้งกรรมการอีกแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และความจริงแล้วที่ผ่านมาอาจจะมีหลาย ๆ กฎหมายที่มีการออกแบบที่ไม่ค่อยดี แต่ในกรณีนี้อาจจะมีความจำเป็น และมีความหวังอยู่ เพราะว่าถ้าเกิดทำได้โดยมีโครงสร้างอย่างนี้จริง ๆ เราจะมีคนที่เข้าใจและไปวางทิศทางเพื่อให้รัฐบาลจะต้องสนับสนุน และออกกฎหมายหรือออกนโยบาย เป็นการสนับสนุนให้ออกกฎหมายป้องกัน
นอกจากนี้ กรรมการชุดนี้จะเป็นเหมือนกับคนที่เป็นเพื่อนกับผู้เสียหาย คนที่สูญเสียจากเรื่องนี้หรือคนที่เกี่ยวข้องกับคนที่ถูกอุ้มหาย ผมคิดว่าช่วงแรก ๆ หลายคนมืดมนไม่รู้จะต้องทำยังไง ดังนั้นเมื่อมีคนที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีอำนาจที่จะเรียกเอกสาร เรียกข้อมูล เรียกการชี้แจงต่าง ๆ ผมคิดว่ามันจะช่วยทุเลาความกังวลใจลง และเมื่อสถานการณ์คนในครอบครัวของเราหายตัวไปหรือถูกซ้อมทรมานช่วงแรก ๆ 24 ชั่วโมงแรก 48 ชั่วโมงแรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ถ้าเรามีกลไกที่มีประสิทธิภาพ เราอาจจะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการสูญหายก็ได้ หรือเราอาจจะหยุดยั้งไม่ให้เขาเสียชีวิตจากการถูกซ้อมทรมานหรืออุ้มหาย ดังนั้นผมจึงคิดว่าบทบาทของกรรมการมีความสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายนี้รับรองความเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา โดยให้สามีภรรยา คู่ชีวิต ผู้เป็นบุพการีผู้สืบสันดาน และคนที่อยู่ในอุปการะ ไม่ว่าจะทั้งโดยนิตินัยหรือพฤตินัย สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายอาญาได้ ได้รับทราบความจริง และเข้าถึงความเป็นธรรมได้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้หลายกรณี บางทีอาจจะเป็นสามีภรรยาที่อยู่กินฉันสามีภรรยา บางทีกฎหมายก็ต้องพิสูจน์ว่า คุณมีสิทธิ์มาเรียกร้องอะไรไหม คุณเป็นผู้เสียหายจริง ๆ ไหม และหลายกรณีจึงมีปัญหาอย่างกรณีพี่สาวน้องชาย มันอาจจะมีปัญหาได้ ดังนั้นในการรับรองความเป็นผู้เสียหายในกรณีอาญาจึงมีความสำคัญมาก
และสุดท้าย ผมก็คิดว่าการไม่มีอายุความเลยจะช่วยให้เราตามหาว่าใครเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหาย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในคดีเหล่านี้ เหตุที่ต้องไม่มีอายุความเนื่องจากมันมีความยากเป็นพิเศษเพราะว่าหลายครั้ง คนที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มหายหรือซ้อมทรมานจะเป็นคนที่อยู่ในอำนาจรัฐ ซึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่าเขาเกี่ยวข้อง ต้องรอให้เขาไม่มีอำนาจก่อน ในที่นี้ไม่ใช่ว่าเราอยากจะยอม แต่เราไม่รู้จริง ๆ ว่าใครเป็นคนทำ จนกระทั่งเขาไม่มีอำนาจแล้วเราถึงรู้ ดังนั้นการที่ไม่มีอายุความจะทำให้เราสามารถตามหาได้เสมอว่าใครคือคนที่เป็นฆาตกร ใครคือคนที่กระทำความผิดในทางอาญาเหล่านี้ ผมจึงคิดว่ามันเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และอย่างน้อยถึงแม้ว่ากฎหมายฉบับนี้สำหรับหลายคนจะรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรา เราไม่น่าจะถูกอุ้มหายหรือถูกซ้อมทรมานได้ แต่ว่าผมอยากจะให้เราพึงระลึกว่า วันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ ผมมีคนรอบตัว เป็นคนในครอบครัวด้วยซ้ำที่เคยถูกซ้อมทรมาน และบางที ณ วันนั้นเราก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับเรา แต่สุดท้ายมันก็เกิด ผมเลยคิดว่าอย่างน้อยที่สุด การมีกฎหมายแบบนี้ก็เป็นการสร้างมาตรฐานทั้งสองคนว่าการซ้อมทรมานและการอุ้มหายไม่ใช่สิ่งที่จะถูกยอมรับได้อีกต่อไปในหมู่ของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ที่ไม่ได้รู้สึกว่าการซ้อมทรมานหรืออุ้มหายเป็นสิ่งที่ผิด เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องไม่ให้ถูกจับได้ก็พอ ทำไปเถอะ แต่ต้องไม่ถูกจับได้ ถ้าถูกจับได้ก็ซวย ซึ่งมันไม่ควรที่จะถูกยอมรับแบบนั้น และการมีกฎหมายฉบับนี้จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องการอุ้มหายหรือการซ้อมทรมานไม่สามารถลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้ปลอดภัยอีกต่อไป วันนี้เรายังจับคุณไม่ได้หรือยังไม่สามารถที่จะหาพยานหลักฐานมายืนยันว่าคุณเกี่ยวข้อง แต่ไม่แน่วันหนึ่งชีวิตของคุณอาจจะจบที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพก็ได้ อันนั้นก็เป็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ที่ดี
ถ้าพูดถึงกระบวนการเบื้องต้นจริง ๆ ใช้เวลามานานกับกฎหมายฉบับนี้ แล้วก็อยู่ในลำดับที่สามของการพิจารณาของสภา ปกติในสภาจะต้องพิจารณาสองวันในวันพุธกับวันพฤหัส วันพุธจะเป็นการพิจารณากฎหมาย วันพฤหัสจะเป็นการพิจารณากระทู้ที่รัฐมนตรีไปถาม และมีญัตติตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ วันพุธจึงเป็นโอกาสสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ที่จะประชุมกฎหมายฉบับนี้ ความตั้งใจของผมที่เป็นผู้ประสานงานของพรรคก้าวไกล เราก็อยากจะผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาวันพุธนี้ให้ได้ เพื่อที่ว่าอย่างน้อยการตั้งกรรมาธิการต่าง ๆ จะได้ขยับไปได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลากันที่จะรอให้สภาเปิด
เท่าที่มีการคุยกับผู้ประสานงานของฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ ผมคิดว่าเขาไม่ได้ติดใจอะไร เท่าที่ได้ฟังจากน้ำเสียงอะไรต่าง ๆ ก็คิดว่ามีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาเข้า แต่วันพุธนี้อาจจะมีเกิดขึ้นได้สามเหตุการณ์ คือ หนึ่ง ได้รับการพิจารณาและผ่าน ตั้งกรรมาธิการได้เลย แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสอย่างนี้จริง ๆ แล้วอาจจะไม่มาเท่าไหร่ เพราะว่าตัวร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาน่าจะมีคนสนใจกันเยอะและอภิปรายกันเยอะ อันที่สองคือ ได้รับการพิจารณาในวันพุธนี้ แต่ไม่จบ ต้องนำไปพิจารณากันต่อในสมัยประชุมหน้า ก็คือเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตรงนี้ถ้าเป็นอย่างนี้จริง เราก็จะเสียเวลาพอสมควร ก็คือยังไม่มีการตั้งกรรมาธิการเพื่อให้เข้าวาระสองในช่วงเวลาถัดไป ทำให้ร่างนี้ช้าไปอีก แต่มันก็ยังดีกว่าที่ไม่พิจารณาเลย อย่างน้อยที่สุดก็ได้รับการพิจารณาบ้าง เป็นหลักประกันว่าพอเปิดสมัยประชุมหน้าก็จะได้รับการพิจารณาทันที และสาม ก็คือ อาจจะไม่ได้รับการพิจารณาเลย อันนี้คือกระบวนการทั้งหมด ถ้าทันกันเสร็จเรียบร้อยทั้งสามวาระ ผ่านวาระที่หนึ่งรับหลักการ ผ่านวาระที่สองก็จะมีการพิจารณารายมาตรา หลังจากกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้ว และวาระที่สามก็จะถามสภาว่าจะรับหรือไม่รับ แล้วก็จะมีการส่งต่อไปให้ส.ว. ซึ่งเขาก็จะทำกระบวนการสามวาระเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทำได้ในวาระที่หนึ่งภายในวันพุธนี้ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้อยู่ที่กฎหมายฉบับนี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในปีนี้ จึงทำให้เราใช้กลไกในตรงนี้ในการไปตามหาเคสที่เกิดขึ้นในกรณีต่าง ๆ ต่อไปนี้ พยานหลักฐานเอกสารที่ฝ่ายรัฐมีอยู่ กรรมการชุดนี้จะเข้ามามีบทบาทได้แล้ว เรียกไปสอบได้ และเรียกค้นเอกสารเพื่อมาสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่ทำงานกัน รวมถึงช่วยวางนโยบายให้กับภาครัฐในการติดตามเชิงลบต่อไป ซึ่งผมคิดว่ามันจะมีความหวังมากขึ้นในการที่เราจะติดตามกับคนที่สูญหายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับครอบครัวเขาต่อไป และผมคิดว่าถ้ามันผ่านได้ ผมก็อยากจะอุทิศให้กับครอบครัวคนที่สูญหายถูกซ้อมทรมานที่ได้เกิดขึ้น
จริง ๆ เราเข้าสู่รัฐสมัยใหม่มานาน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็เป็นเสมือนว่าเราไม่เคยมีการเปลี่ยนเข้าสู่รัฐสมัยใหม่เลย หลาย ๆ กรณีในสมัยอดีตกาลทำกันอย่างไร วันนี้ก็ทำกันอย่างนั้นอยู่ ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเสียใจที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่อย่างนี้ และเป็นความทุกข์ทรมานของครอบครัวและหลายครอบครัวที่ได้แต่รอว่าเป็นอย่างไร และหลายคนยังเชื่อว่าคนที่ถูกกระทำให้สูญหายยังมีชีวิตอยู่ ผมเชื่อว่าหลายคนฝันที่จะได้ยินเสียงของคนในครอบครัวตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าเรายังคงต้องมีความหวังกับมัน ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีกลไกอะไรที่จะไปช่วยในการตรวจสอบ ไปช่วยในการเร่งหา ดังนั้นผมจึงคิดว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อทุเลาความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคนใกล้ชิดรวมถึงตัวผู้ถูกกระทำ ก็หวังว่าจะได้ผลไม่มากก็น้อย ก็อยากให้มันเกิดขึ้น อย่างน้อยก็คงไปรับประกันให้กับสังคมไทยได้
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ในเช้าวันพุธที่ 15 ก.ย. จะยกมือขอให้เลื่อนลำดับการพิจารณากฎหมายฉบับนี้จะเป็นไปได้ไหม หรือต้องขอเลื่อนโดยพรรคเพื่อไทยที่เป็นเจ้าของร่าง เหมือนที่เคยทำได้ในวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่มีการเลื่อนจากลำดับ 9 มาเป็นลำดับ 4 ได้
รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล
จริง ๆ การเลื่อนลำดับในวันที่ 8 ก.ย. เป็นการคุยกันในวิป ที่ไม่เลื่อนขึ้นมาอยู่ก่อนพ.ร.บ.การศึกษา เพราะไม่แน่ใจว่ากฎหมายจะพิจารณาเสร็จเมื่อไร ตามข้อบังคับการประชุมสภา คือจะไม่พิจารณากฎหมายที่ถูกเลื่อนในวันที่เลื่อนทันที เร็วที่สุดคือพิจารณาในวันถัดไป ณ ตอนนั้นคิดว่ากฎหมายเรื่องเครดิตน่าจะเร็ว และถ้าเลื่อนพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปไว้ก่อน [พ.ร.บ. การปฏิรูปการศึกษา] ก็ไม่ได้เข้าพิจารณาอยู่ดี เลยนำไปต่อท้ายพ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้พิจารณาเลย
ดังนั้น ถ้าเลื่อนอีกรอบในครั้งนี้ก็จะไม่ได้พิจารณาอยู่ดี และสุดท้ายก็จะไม่ได้พิจารณา [ในสมัยประชุมนี้] เลย วิธีเดียวในตอนนี้คือต้องช่วยกันอย่างมากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เร่งการพิจารณา 2 ฉบับก่อนหน้าให้เร็วขึ้น เพื่อให้พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้รับการพิจารณา ต้องมีการตกลงกันและส่งสัญญาณถึงท่านชวนว่า ต้องเข็นให้พิจารณาให้ได้ ไม่ว่าจะต้องเลิกดึกแค่ไหน เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านวาระ 1 ให้ได้
อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ
เห็นด้วยกับส.ส.โรม กฎหมายเรื่องการศึกษา ต้องคุยกันทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เข้าใจว่าผู้แทนราษฎรอยากนำเสนอปัญหา และเสนอความคิดเห็น แต่ด้วยเวลาจำกัด จึงต้องมีการดูรายชื่อและดูประเด็นการอภิปรายว่ามีตรงไหนซ้ำกันบ้าง เพื่อลดจำนวนผู้อภิปราย ให้กฎหมายนี้เข้าพิจารณาได้ทัน
ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ในฐานะคนใกล้ชิดของต้าร์ วันเฉลิม นี่ถือเป็นเดิมพันครั้งนึงของเรา เวลาเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต่อให้เราไม่ได้เป็นคนในครอบครัว แต่ก็ใกล้ชิดกับพี่ต้าร์ ทำให้มีผลกระทบทางใจ เราอยากเห็นพ.ร.บ.นี้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ให้บังคับใช้ได้ สำหรับคนอย่างเราที่อยู่กับความทรมานแบบนี้ รวมถึงครอบครัวและญาติของผู้ถูกบังคับสูญหาย 1 วันอาจจะช้าไปด้วยซ้ำสำหรับพวกเราที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเสียที
เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
เรารู้สึกว่า ร่างกฎหมายนี้ดำเนินการมากว่า 12 ปีแล้ว เราจะอยู่กับสังคมที่มีการลอยนวลพ้นผิดเช่นนี้หรือ คนที่เจ็บปวดคือญาติของผู้ถูกบังคับสูญหายและซ้อมทรมาน และองค์กรได้มีการตามตัวร่างกฎหมายมาโดยตลอด เราเชื่อในความหวังของคนในที่นี้ และคนที่แสดงตัวว่าสนับสนุนกับร่างพ.ร.บ.นี้
เรามีแคมเปญเรื่องระบบและการเข้าวาระ การปกป้องคุ้มครอง เรื่องกลไก ความยุติธรรม จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เราไปลงนามสัญญาไว้ ต้องทำให้เห็นว่าคนที่ถูกทำร้ายจากรัฐ คนที่สูญหาย ถูกทรมาน มีพื้นที่เรียกร้องความยุติธรรม มีกฎหมายที่บ่งบอกว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ถูกลืมไป
ในตอนนี้ เราจะมีแฮชแท็ก (#) 3 อัน คือ #พรบต้องไม่หายกฎหมายต้องมี #พรบทรมานอุ้มหาย #พรบอุ้มต้องไม่หาย วันนี้อยากส่งถึงทุกคน ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ คนที่อยู่ในสภา ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง ในส่วนของนักข่าวและสื่อ เราอยากให้เล่นประเด็นนี้ สื่อสารออกไปว่าสังคมเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ให้ผ่านร่างและให้ความยุติธรรมกับครอบครัวผู้ถูกกระทำ เราจึงอยากให้นำเรื่องนี้ที่ได้ฟังมา แชร์ออกไปว่าเกิดอะไรขึ้น ส่งเสียงออกไป เล่าต่อกับคนรอบตัวว่าเกิดอะไรขึ้น เราเชื่อว่าต้องทำได้
เรามีเวลาเหลืออีกแค่ไม่กี่วัน นี่ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่จริง ๆ เราอยากเห็นพลังของประชาชนคนธรรมดา ผลักดันให้เกิดเป็นตัวกฎหมายออก หากใส่แฮชแท็กเอาไว้ เราจะช่วยสื่อสาร ทั้งทางออนไลน์ออฟไลน์ นี่เป็นแคมเปญเปิดกว้าง แต่มีความสำคัญในสังคมไทย และเชื่อว่าต่อไปจะไม่มีเหตุที่เกิดกับคุณสมชาย บิลลี่ วันเฉลิม หรือพฤษภา 35 อีกต่อไป เราไม่ควรลืมบุคคลที่สูญหาย บุคคลที่ถูกทรมาน และช่วยให้พวกเขาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส