
หมายเหตุ: บทสนทนานี้เกิดจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ และเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงนำมาเผยแพร่ ขอขอบคุณ อ.อับดุลสุโก ดินอะ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ มารุฟ อิบบาฮิม อ.อสมา มังกรชัย อัญชนา หีมมิน๊ะ และนูรอาซีกิน ยูโซ๊ะ
บันทึกโดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
เรียบเรียงโดย อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
ความเดิมตอนที่แล้ว
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีการละหมาดฮายัต (ละหมาดเพื่อขอให้พ้นภัย) เมื่อตอนที่ทหารอเมริกันและพันธมิตรบุกยึดอัฟกานิสถาน จึงเห็นว่าตอนนี้มีการปฏิกริยาที่สนับสนุนตาลีบัน และกระแสต่อต้านที่อาจจะเกินจริงจากสถานการณ์ปัจจุบัน
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีประสบการณ์การทำงานที่ดีจะลดอุณหภูมิความขัดแย้งตลอดมา มีการพูดคุย สานเสวนา กับพื้นที่กลาง ปลอดภัยโดยทำอย่างไรให้การเห็นต่างมีพื้นที่ โดยไม่ใช้ความรุนแรง การนำเสนอวงเสวนาภายใต้เจตนารมณ์อิสลาม (หลักการศาสนา) ทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน ทั้งสองสิ่งนี้จึงมีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง
ชายแดนใต้ กับสิ่งที่ประกอบสร้างความเป็นสังคมมุสลิมปาตานี
สังคมและความเชื่อของชาวมุสลิมชายแดนภาคใต้ มีหลายกลุ่ม อย่างน้อยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ในบริบทปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานและก็ยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ 1) กลุ่มที่นิยมความรุนแรงในการแก้ปัญหา 2) กลุ่มที่เห็นใจกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง 3) กลุ่มมุสลิมที่สนับสนุนความเป็นตะวันตก
การให้ความเห็นทางวิชาการเรื่องปรากฏการณ์ การที่ตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานกลับมาได้นั้นต้องเป็นการสื่อสารข้อมูลที่เกิดขี้นบนฐานความเข้าใจความซับซ้อนของพื้นที่นี้ และต้องมีข้อมูลเชิงการข่าวที่ตรวจสอบแห่งที่มาแล้วจึงจะสามารถสื่อสารในทางการวิเคราะห์ได้ แต่ก็ค่อนข้างยากเพราะมีคนที่อยู่ในกระแสต่อต้านตาลีบันอย่างเกินจริง มีคนที่สนับสนุนตาลีบันมากด้วยความรู้สึก การตรวจสอบข้อเท็จจริงในข่าวแต่ละชิ้นจึงยากแต่ก็ต้องทำ
เหตุและผล คำอธิบายความเป็นตาลีบัน
คำตอบและคำอธิบายของเหตุการณ์หนึ่งหรือเรื่องหนึ่งคงได้มาโดยไม่ง่าย เช่น ทำไมตาลีบันจึงใช้อาวุธ ทำไมทหารอัฟกันที่มีอุปกรณ์การรบครบมือและมีจำนวนที่มากมายจึงไม่ต่อสู้กับตาลีบัน หรือแม้กระทั่งว่า ตาลีบันได้ปรับเปลี่ยนท่าทีไปแล้วจริงๆ หรือเพียงเพื่อการได้รับการยอมรับนานาประชาชาติเท่านั้น ตามที่แถลงการณ์ออกมา เรื่องเล่าหนึ่งเรื่องจากประสบการณ์จริงของหนึ่งคนอาจจะไม่สามารถอธิบายสถานการณ์ได้ และก็มีการกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ของสตรีทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังการปกครองตาลีบันก็อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย เป็นต้น
ปัจจุบัน (ส่วนใหญ่) สังคมไทยไม่ได้เข้าถึงข้อมูลในสถานการณ์อัฟกานิสถานได้ง่ายนัก เพราะข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมาหลายมุมมองและมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งจากประเทศตะวันตก จากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งใกล้ ไกลและมีอิทธิพลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงต้องมีการกลั่นกรองเหมือนเอามาใส่ตะแกรงร่อนให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงในการนำไปวิเคราะห์และทำงานตามสายงานของตน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักการศาสนา หรือสื่อมวลชน อีกทั้งตอนนี้ทุกคนมีสื่อในมือการวิเคราะห์ข่าวหรือการอ่านข่าวให้เป็นจริงมีความสำคัญมากในสถานการณ์ที่ยังฝุ่นตะหลบ
ในมุมมองของนักสิทธิสตรี (บางท่าน) ในพื้นที่ (อัฟกานิสถาน) สะท้อนให้เห็นว่า ตนต้องหลบซ่อนตัวก่อน ปิดสื่อออนไลน์ และลบบัญชีไปทั้งหมดเพื่อป้องกันการคุกคาม รอดูสถานการณ์ เนื่องจากกลุ่มสตรีนักกิจกรรมมีประสบการณ์ด้วยตนเองจึงยังไม่เชื่อมั่นว่าตาลีบันจะทำตามที่แถลงต่อประชาคมโลก และไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้สนับสนุนตาลีบันที่ไม่ทราบสถานการณ์จริง
เมื่อการนำเสนอข่าวสารด้านสิทธิมนุษยชนคือสิ่งสำคัญ
ในจังหวัดชายแดนใต้มีคนแสดงท่าทีสนับสนุนตาลีบันในการปลดปล่อยอัฟกานิสถานและเชื่อโดยสนิทใจว่าข่าวสารที่ออกมาในทางลบต่อตาลีบันนั้นเป็นข่าวที่ผลิตขึ้นจากฝั่งตะวันตกที่ต้องการให้ร้ายกับฝ่ายมุสลิม ซึ่งอาจหมายถึงไม่เชื่อข้อมูลจากนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนที่มาพูดเรื่อง สิทธิสตรีและอื่นๆ ในตอนนี้ รวมทั้งพวกเขาบางส่วนยังมีความคิดมุ่งมั่นเรื่องการก่อตั้งรัฐอิสลาม ศาลชารีอะห์ ซึ่งก็ทำให้ข่าวสารเรื่องตาลีบันกลายเป็นแรงบันดาลใจ แต่จะถึงขั้น เข้าร่วมแนวทางการใช้ความรุนแรงหรือการต่อสู้ทางอาวุธขึ้นมาหรือไม่ยังไม่อาจตอบได้
ในมุมเรื่องการสื่อสาร ตอนนี้มีหลายฝ่ายที่สื่อสารออกแบบในเรื่องอัฟกานิสถานในมุมมองที่สนับสนุนแนวคิดเดิมของตนเอง เช่น อาจมีบางกลุ่มที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงอยู่แล้วก็จะสื่อสารในทำนองที่สนับสนุนหรือมีความฮึกเฮมในการต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความรุนแรง ที่มองว่าประสบความสำเร็จได้ หรือในกรณีที่ต้องการสนับสนุนการกำหนดชะตากรรมของตนเองก็อาจจะมองเรื่องเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานเป็นแรงบันดาลใจ ยิ่งถ้าเป็นข่าวสารที่ใช้ภาษาอาหรับหรือภาษามลายูด้วยแล้วก็จะเชื่อถือข่าวสารเหล่านั้นอย่างสนิทใจ รวมทั้งมีความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดอยู่แล้ว (Conspiracy Theory) ก็จะมองการวิพากษ์วิจารณ์ตาลีบันเป็นวิจารณ์อิสลามของฝ่ายตะวันตก
ทั้งที่ข่าวสารด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดสิทธิสตรีและเด็กก็เป็นข่าวที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในส่วนที่ได้มีการเผยแพร่และสื่อสารเช่นจากชาวอัฟริกาที่อยู่ต่างประเทศ หรือจากญาติพี่น้องที่ยังคงประสบเหตุการณ์ในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องว่ามีการสร้างข่าวหรือทำข่าวเท็จ เช่น การไปเคาะประตูบ้าน การเผาสวนสาธารณะ การฆ่าเด็กที่ถือธงชาติอัฟกัน เป็นต้น
ข้อเสนอแนะจากนักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และนักข่าว
นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ นักข่าวที่อยู่ห่างไกลจากข้อเท็จจริง ก็ยังคงต้องแนวทางการสื่อสารอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ทุกฝ่ายมีผลประโยชน์ในอัฟกานิสถาน เมื่อเราเสพสื่อผ่านคนอื่น ก็จะมีทั้งความรู้สึก ความกลัว ผลประโยชน์ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเสพข้อมูลที่เป็นจริงอยู่หรือไม่อย่างไร และข้อมูลที่ได้มาก็ไม่ใช่ตัวแทนของเรื่องราวนั้นก็ได้ เหตการณ์หนึ่งเหตุการณ์บรรยายจากคนในเหตุการณ์ที่ประสบมาก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นทั่วอัฟกานิสถาน
มีข้อเสนอว่าเหตุการณ์ยังครุกรุ่น จึงต้องรับฟังอย่างรอบด้าน ใจเย็น ไม่ตีขุม กรองความเห็นออกไปให้ได้มากที่สุด แสดงความเป็นห่วงใยต่อสถานการณ์เด็กและสตรีได้ อย่าลืมว่าสื่อก็มีธง และตัวเราเองเวลาเสพสื่อก็มีธง
เรามีปฏิบัติการสื่อสาร (IO) ในประเทศไทย และ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในระดับสากลก็มีหนักมากด้วย เราต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า Misinformation and information disorder เราจึงต้องวิเคราะห์เนื้อหาข่าว สื่อมาจากไหน ใครเป็นคนสร้าง อะไรที่ซ่อนอยู่ในสื่อนั้น สื่อต้องการอะไรจากเรา เราคิดอย่างนี้เพราะอะไร
สถานการณ์อัฟกานีสถานกับปฎิกริยาของสังคมไทยและสามจังหวัดชายแดนใต้ทำให้ต้องคิดถึง 5 เรื่องใหญ่ๆ ที่จะยังคงอยู่แม้สถานการณ์อัฟกานิสถานจะคลี่คลายลง ได้แก่ Islamicphobia, Peace and Conflict Resolution, Human Rights in The Deep South, Democracy in Thailand Including Gender Issues
#ข้อเสนอแนะเบื้องต้น
1. ทำ Fact Check ทั้งที่ทำอยู่แล้วและทำต่อ ก่อนการสื่อสารเผยแพร่แม้จะเป็นการส่งต่อด้วยช่องทางส่วนตัวและการสื่อสารอื่น
2. ส่งเสริมการสื่อสารเพื่อสันติภาพหรืออีกนัยหนึ่งคือการทำสื่ออย่างมืออาชีพต่อไปอย่างกว้างขวาง
3. ข้อมูลที่ไม่เท่ากัน ในบริบทเวลาที่ต่างกัน อาจจะต้องมีการศึกษาเรื่องอัฟกานิสถานกันแบบเริ่มต้น Set Zero เพื่อการก้าวไปข้างหน้า ทั้งเรื่องกระบวนการสันติภาพและหรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพจริง การแลกเปลี่ยนเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังกับมุมมองทางศาสนาอิสลาม
4. การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งผลกระทบที่อาจส่งมาถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ และก็คงหมายถึงการเฝ้าดูสถานการณ์ ทั้งห้าเรื่องนี้ที่กำลังเข้มข้นและก็จะไม่จางหายไป เมื่อสถานการณ์อัฟกานิสถานได้คลี่คลายลง Islamicphobia, Peace and Conflict Resolution, Human Rights in The Deep South, Democracy in Thailand Including Gender Issues
5. องค์กรสิทธิฯ ยืนยันในหลักการด้านสิทธิมนุษยชน สื่อสารข้ามวัฒนธรรม หลักการด้านสิทธิมนุษยชนกับหลักศาสนาอิสลามต้องนำมาพูดคุยสร้างพื้นที่ กลางปลอดภัย ให้เกิดบทสนทนาให้มุมมองที่แตกต่างสามารถรวมพบปะ พูดคุยกันได้ หาจุดร่วมกันในการพูดคุยกันต่อเนื่อง