งานเปิดตัวหนังสือ : ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และงานเสวนาวิชาการ : ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในวันที่ 3 กรกฎาคม
ณ ห้องประชุมชั้น 4 สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.00 -17.00 น.
หลักการและเหตุผล
พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง บริเวณนี้เป็นเขตนิเวศสำคัญที่เชื่อมต่อกับผืนป่าอื่นๆ บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ความโดดเด่นนี้ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกทางธรรมชาติ (World Heritage Tentative List) ในปี พ.ศ. 2554 หรือปี ค.ศ. 2011 หากคำนึงถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ที่หาอยู่หากินกับธรรมชาติแล้ว จะเห็นว่าพื้นที่ใจแผ่นดินในป่าแก่งกระจานเป็นบ้านของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้มาเป็นเวลานาน การขึ้นทะเบียนมรดกโลกจึงจะต้องมีการปรึกษาหารือและสร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่ตามแนวทางการปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ
อย่างไรก็ดี ระบบคิดที่แตกต่างกันระหว่างการอนุรักษ์ที่ปราศจากชุมชน กับการอนุรักษ์ที่สืบเนื่องมาจากวิถีชีวิตที่เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติทำให้เกิดการอพยพชาวกะเหรี่ยงออกมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินในปี พ.ศ. 2554 และทำให้หมู่บ้านที่อยู่กันมาแต่ดั้งเดิมก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้นต้องสูญสลายไป หากคำนึงถึงเฉพาะตัวบ้านและยุ้งฉางที่เป็นกายภาพ สิ่งเหล่านี้สามารถจะสร้างขึ้นใหม่ได้หลังจากที่มีการเผาทำลายไป แต่ความผูกพันกับผืนดินและความรู้ที่สั่งสมมาไม่สามารถจะหวนคืนได้
จากนั้นมา ชาวกะเหรี่ยงจากชุมชนใจแผ่นดินจึงประสบปัญหาด้านการดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม และประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ขาดที่ดินทำกินและปัจจัยในการดำรงชีวิต บางส่วนพยายามกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่เดิม แต่ต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกแผ้วถางอุทยานแห่งชาติ หลายคนต้องกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดินกำลังจะสูญเสียอัตลักษณ์ ความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม วิถีชีวิต วัฒนธรรมในการดำรงชีวิตของตนที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ส่วนนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ห่วงใยและตั้งคำถามกับสภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็หายสาบสูญ ยังไม่ทราบชะตากรรมจนบัดนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิชุมชน รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร” องค์การมหาชนที่ทำงานด้านวิชาการ ฐานข้อมูลและการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ และ “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการที่ทำงานเรื่องชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา จึงได้ร่วมมือกันดำเนินการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน การขึ้นทะเบียนมรดกโลก และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” และเปิดตัวหนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนี้ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงพันธกรณีและหน้าที่ของรัฐไทยในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยใช้กรณีของชาวกะเหรียงในกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นสาระในการนำเสนอและพูดคุย
หนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” ซึ่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดทำขึ้นโดยการรวบรวมประวัติและข้อมูลต่างๆ ของชุมชนดังกล่าวจากเอกสาร บันทึก และคำบอกเล่า หนังสือนี้จึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ปัญหาและการคุกคามต่อวัฒนธรรมที่สังคมใหญ่มักจะไม่ค่อยได้รับทราบในเชิงลึก
วัตถุประสงค์
1) เพื่อให้เกิดเวทีบอกเล่า ระดมความเห็น ตั้งข้อสังเกตโดยนักวิชาการ บุคคลที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจ ที่จะนำมาสู่การทำความเข้าใจ และขับเคลื่อนนโยบายรัฐที่ประกันสิทธิชุมชนท้องดั้งเดิมให้มีการเคารพต่อสิทธิในวิถีชีวิต การดำรงชีพและวัฒนธรรม โดยใช้กรณีกลุ่มกะเหรี่ยงแก่งกระจานเป็นสาระหลักในการพูดคุย
2) เพื่อนำเสนอ และเผยแพร่หนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” ซึ่งมีเนื้อหาที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง อันเป็นข้อมูลสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก จะได้ใช้เป็นฐานในการแจ้ง ปรึกษา และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยหรือเคยอาศัยอยู่ในกลุ่มผืนป่าแก่งกระจาน
ผู้เข้าร่วม (ประมาน 30-40 คน) ประกอบด้วย
1) นักวิชาการ นักวิจัย นิสิตนักศึกษา
2) ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
3) ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4) ผู้แทนชุมชน
5) ผู้เขียน/เรียบเรียงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้
6) ผู้แทนจากองค์กรสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร 7) นักข่าว
8) บุคคลทั่วไปที่สนใจ
ผู้ร่วมจัด 1) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 2) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ 3) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดตัวหนังสือ : ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และงานเสวนาวิชาการ : ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ณ ห้องประชุมชั้น 4 สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.00 -17.00 น.
กำหนดการ เปิดตัวหนังสือ: ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน
ดำเนินรายการโดย คุณสมศรี หาญอนันทสุข รองประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เวลา 12.30 – 13.00 น. ลงทะเบียน
เวลา 13.00 – 13.15 น. ชมการแสดงดนตรีพื้นบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน พร้อมรับฟัง“เสียงจากชาวบ้านใจแผ่นดิน”
เวลา 13.15 – 13.30 น. กล่าวเปิด โดยคุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวลา 13.30 – 13.40 น. “เสียงจากชาวบ้านกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน” และ มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ
เวลา 13.40 – 14.00 น. ผู้เขียนผู้เรียบเรียงนำเสนอหนังสือ
เวลา 14.00 – 15.20 น. ข้อเสนอแนะ นักวิชาการ ชาวบ้าน
- อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
- ดร.นฤมล อรุโณทัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เสวนาวิชาการ : ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดำเนินรายการโดย คุณสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เวลา 15.20 – 16.40 น. สถานการณ์ ความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจาน
เป็นมรดกโลก โดยนักวิชาการ ชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ และNGO
- อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
- คุณเตือนใจ ดีเทศน์ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- ตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- อาจารย์สุนี ไชยรส มหาวิทยาลัยรังสิต
เวลา 16.40 – 17.00 น. คุณสมชาย หอมลออ สรุปประเด็นการพูดคุย/เปิดให้ถามตอบ
หมายเหตุ กำหนดการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม