เผยแพร่วันที่13 ธันวาคม 2561
แถลงการณ์ ทางการไทยต้องรับผิดชอบ
กรณีส่งตัวนายรวต รุทมนี ให้ทางการกัมพูชา ซึ่งเสี่ยงต่อภัยประหัตประหาร
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมพ.ศ.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับทราบข่าวจากทนายความที่ติดตามเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายรวต รุทมนี ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยซึ่งเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงานและด้านสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชาว่าทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ส่งตัวนายรวต รุทมนีให้แก่ทางการกัมพูชาไปเมื่อเวลาประมาณเที่ยงของวันที่ 12 ธันวาคม 2561 และได้รับคำยืนยันจากหน่วยงานระหว่างประเทศว่านายรวตได้ถูกส่งตัวถึงประเทศกัมพูชาแล้วในเวลาประมาณ16.30น. ขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม เพราะทางการไทยและกัมพูชาไม่ได้เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวของนายรวต รุทมนี และเขาอาจต้องตกอยู่ในภาวะที่เสียงต่อการทรมาน หรือเผชิญกับภัยประหัตประหารจากทางการกัมพูชา
การส่งกลับนายรวต รุทมนี [1]ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ซึ่งต้องดำเนินการโดยกระทรวงต่างประเทศและสำนักงานอัยการสูงสุด โดยร้องขอต่อศาลเพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกลับอ้างว่าเขาเป็นบุคคลที่มีหมายจับต่างประเทศไม่สามารถเข้าประเทศไทย จึงต้องผลักดันกลับ ทั้ง ๆที่นายรวตได้เข้ามาในราชอาณาจักรและอยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมายมาระยะหนึ่งแล้ว
เมื่อนายรวต รุทมนีถูกจับแล้วเมื่อวันที่11ธันวาคมพ.ศ.2561 ทนายความอาสาที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายรวตได้ทำหนังสือขอเข้าพบแต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธไม่ให้พบกับนายรวตเพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ขณะที่นายรวต รุทมนี ยังอยู่ในการควบคุมตัวของทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สวนพลู
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าการส่งกลับบุคคลที่เสี่ยงต่อการถูกทรมาน บังคับให้สูญหาย รวมทั้งถูกดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม อย่างเช่นกรณีนายรวต รุทมนี เป็นการส่งกลับโดยไม่ผ่านขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน นอกจากขัดต่อกฎหมายไทยเองแล้ว ยังขัดต่อกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ห้ามส่งบุคคลกลับออกไปหากว่าบุคคลนั้นอาจต้องเผชิญกับอันตรายหรือภัยประหัตประหาร (nonrefoulment) และขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์กรสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550
“การส่งนายรวต รุทมณีเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ผิดพลาด และสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลไทยรับผิดชอบแสวงหาข้อมูลเรื่องการควบคุมตัวนายรวต รุทมณี และการรับประกันจากทางการกัมพูชาว่านายรวต รุทมณีจะได้รับความปลอดภัย และได้รับสิทธิในการดำเนินคดีที่เป็นธรรม รวมทั้งต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวของเขาด้วย”
“นอกจากนี้ มูลนิธิฯจะทำหนังสือขอให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและชี้แจงต่อประชาชนและนานาชาติว่าการส่งตัวนายรวต รุทมนีให้แก่ทางการกัมพูชานั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ใดต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการดังกล่าว” นายสมชาย หอมลออที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว
นายรวต รุทมนี เป็นประธานสหพันธ์แรงงานก่อสร้างของประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลก และต่อมาทำหน้าที่เป็นล่ามและผู้ประสานงานให้กับสื่อมวลชนต่างประเทศ โดยได้ผลิตสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ร่วมกับสำนักข่าวต่างประเทศ ต่อมามีข่าวว่าทางการกัมพูชากล่าวหาทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ นายรวตเข้าเมืองไทยมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม2561 ด้วยมีหนังสือเดินทางและวีซ่าถูกต้องเป็นการเข้าเมืองถูกกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 เนื่องจากการกดดันทางการเมืองต่อนักกิจกรรมแรงงานในประเทศกัมพูชาอย่างหนัก นายรวต รุทมณีได้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนและขณะนี้อยู่ในขึ้นตอนการพิจารณาเข้าข่ายเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่จะได้รับการคุ้มครองจากประชาคมระหว่างประเทศและจาก UNHCR)
เมื่อสำนักงานUHCHR ได้รับข้อมูลว่าผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วถูกจับกุม เมื่อวันที่11ธันวาคม 2561 จึงได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับนายรวต รุทมณีที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่สวนพูล ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่านายรวต รุทมณีอยู่ในการคุ้มครองของUNHCR ในวันที่12ธันวาคม วันเดียวกับที่นายรวต รุทมณีถูกส่งกลับโดยทางฮอลิคอปเตอร์เจ้าหน้าที่ของสำนักงานองค์การสหประชาชาติได้ติดต่อขอเข้าพบและทราบว่านายรวต รุทมณีถูกส่งกลับไปแล้ว
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02-1015481
[1] https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586/2238597086361319/?type=3