Download at
กระบวนการยุติธรรมจชต. เล่ม1 ผู้เขียน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
กระบวนการยุติธรรมกับศักยภาพท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เปลี่ยนไป: แนวทางและข้อเสนอแนะ (ช่วงปี2547-2554)
นำเสนอต่อการประชุมวิชาการระดับชาติ
ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้
12-14 กันยายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ผู้อำนวยการมูลินิธิผสานวัฒนธรรม
บทคัดย่อ
ระบบยุติธรรมของไทยปฎิบัติตามและพึงปฎิบัติตามหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิตามกฎหมายของชาวไทยทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ณ แห่งใด ถือว่าเป็นคนสัญชาติไทย และมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ดีมีภาพสะท้อนในสมัยอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีชาวไทยมลายูนับถือศาสนาอิสลามอยู่กันอย่างหนาแน่น ทำให้เห็นว่าของปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่ยังคงเป็นปัญหาที่หนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชน สภาทนายความถูกบังคับให้หายไป ทำให้ประเด็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้มีความสำคัญเป็นที่สนใจยิ่งขึ้นและอาจสะท้อนถึงความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน
นับแต่สถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอีกครั้งในปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมา มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่แตกต่างจากสถานการณ์ปกติ การศึกษาในรายงานฉบับนี้จึงให้ความสำคัญสภาพปัญหากระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และความเปลี่ยนแปลงอันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และที่ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าขณะที่มีการกล่าวว่าปัญหาจังหวัดชายแดนใต้คือปัญหาที่ชาวไทยมลายูนับถือศาสนาอิสลามไม่ได้รับความยุติธรรมอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงและการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบกับปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้ปรับตัวและมีบทบาทอย่างไรต่อการแก้ไขปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน เมื่อปรากฎว่ามีชาวไทยมลายูนับถือศาสนาอิสลามไม่ได้รับความยุติธรรมเสมอภาคกันและขาดโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และยิ่งโดยเฉพาะกรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญาทั่วไปและคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน กบฎ และคดีเกี่ยวกับความมั่นคง จึงควรแก้ไขประบวนการยุติธรรมซึ่งมีความอ่อนไหวต่อคนหลากหลายทางวัฒนธรรมและควรให้ความสำคัญกับบทบาทองค์กรท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาค